15 ต.ค. 2559

หัวหน้าชุด ครูฝึก นศท.ชั้นปีที่ 4

ในปีการศึกษา 2559 ศฝ.นศท.มทบ.42  กำหนดให้ดำเนินการ ฝึก นศท.ชั้นปีที่ 4 และ 5
ในห้วงวันที่ 10 ต.ค.59 ถึง 21 ต.ค.59 เว้นวันเสาร์ - อาทิตย์  สรุปว่าฝึก ศึกษา เป็นเวลา 10 วัน
วันละ 8 ชม. เริ่มตั้งแต่ 08.00 - 1200 ในรอบเช้า  และ 1300 - 1700 ในรอบบ่าย

ปีการศึกษา 2559 ได้รับเกียรติ ให้เป็นหัวหน้าชุดครูฝึกชั้นปีที่ 4 อีกครั้งหนึ่ง
แปลความง่ายๆ ผมเป็นครูประจำชั้นอีกแล้ว
ในปีนี้ มี นศท.สมัครเข้ารับการฝึกในชั้นปีที่ 4 เยอะพอควร
นศท.ชาย 299 นาย
นศท.หญิง  152 นาย

ตามระเบียบของการฝึก/เรียน นศท.มีข้อกำหนดไว้เยอะแยะ  เช่น...

*นศท. มีคะแนนความประพฤติคนละ 100 คะแนน ใครที่ถูกตัดคะแนน เกิน 50 คะแนน 
ไม่มีสิทธิ์สอบภาคปฎิบัติและภาคทฤษฎี (เท่ากับ สอบตก)

*ผู้มีสิทธิเข้าสอบภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ จะต้องมีเวลารับการฝึก/เรียน ครบ 80 ชั่วโมง

*นศท.ขาดเรียน1ครั้ง (4 ชม.) ถูกตัดคะแนนความประพฤติ 15 คะแนน และถูกตัดเวลาเรียน 4 ชม.
ฉะนั้น ถ้าขาดเรียน 4 ครั้ง จะถูกตัดคะแนนความประพฤติ 60 คะแนน หมดสิทธิ์สอบ


ในห้วงเดือนตุลาคม สถาบันอุดมศึกษาส่วนใหญ่กำลังสอบกลางภาค จึงเกิดปัญหาขึ้นสำหรับ นศ.ที่ต้องเข้ารับการฝึก นศท.ด้วย 

นศท.ไม่มาฝึก ครูฝึกบอกว่าขาด ต้องตัดเวลาเรียน และตัดคะแนนความประพฤติ  (นศท.ร้อง จ๊ากก)
นศ.ไม่เข้าสอบกลางภาคตามเวลาที่กำหนด อาจารย์บอกว่า ไม่มีคะแนนในรายวิชานั้น  
ฉันจำเป็นต้องให้เธอตกแน่นอน  (นศ.ร้องจ๊ากกก)

วงจรชีวิต ของ นศ.+ ชีวิต นศท. วุ่ยวายดีแท้   ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของมหาลัย และ ศฝ.นศท.

ครูฝึก นศท. บอกว่า "ช่วงเช้า มาฝึก นศท.ก่อน แล้วช่วงบ่ายจะให้ลาไปสอบ ทำได้ไหม?"
อจ.ที่ ม.บอกว่า "ฉันมีเวลาให้เธอแค่ 0900-1100 เท่านั้น ตอนบ่ายฉันมีงานต้องทำอีกเยอะ"
นศ.บอกว่า "เวรกรรมมีจริงว่ะ มันมาชนกันแบบนี้ เป็นกรรมของกูจริงๆ"

ครูประเคียง เคยแนะนำว่า "อย่าปล่อยให้ชีวิตล่องลองไปตามโชคชะตา เราเป็นมนุษย์ที่มีอาระยธรรม 
เราต้องลิขิตชีวิตของเราเอง" 
นศท.บ่นว่า "มหาลัย กับ ศูนย์ฝึก เอาเวลาของชีวิตผมไปหมดแล้ว 
เหลือวินาทีไหนที่ผมจะลิขิตชีวิตตัวเองได้บ้างล่ะครับ" 

ครูประเคียง ขอแนะนำอย่างนี้นะ  "ต.ค.นี้ เราอาจจะลิขิตชีวิตตัวเองไม่ได้  ก็ปล่อยมันไป  
ไว้ปีหน้า ปี 60 หรือปี 61 ก็ได้ วางแผนซะตั้งแต่ต้นปีการศึกษาเลย " 
555 หมายความว่า ยอมสอบตก นศท.ซักปี  2 ปี  ชีวิตคงจะราบลื่นขึ้นนะ

นศท.กลุ่มนี้ จะมีความรู้สึกกังวล ห่วงหน้า พะวงหลัง ล้วนแล้วแต่เป็นเด็กเรียน 
แน่นอนเกรดผลการเรียนออกมาดีตลอด 

ยังมี นศท.อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่ง อจ.ที่มหาลัย ได้ดำเนินการสอบเก็บคะแนนเสร็จเรียบร้อยแล้ว 
เห็นเพื่อนๆขอลาจากการฝึก ไปสอบที่มหาลัย ครูฝึกก็อนุญาตโดยไม่ซักถามอะไรมากมาย  
สามารถออกจากศูนย์ฝึกได้ ไม่ต้องฝึก ไม่ต้องตากแดด ตากฝน แล้วเราจะทนตากแดดตากฝนไปเพื่ออะไร 
ความคิดบรรเจิดเกิดขึ้น  ลงมือเข้าสู่ขั้นตอนการปฏิบัติ

"ครูฝึกครับ อจ.ไลน์มาว่า ผมไม่ผ่าน 2 วิชาครับ ให้ผมไปสอบแก้บ่ายนี้ครับ"
"ครูครับ มหาลัยแจ้งในเฟสว่า ให้ผมไปกรอกเอกสาร กยศ.บ่ายนี้ครับ"
"ครูครับ ที่หอมีปัญหา อจ.ที่ควบคุมหอพักโทรมาว่าให้ไปเปิดหอพักเพื่อค้นหาอะไรสักอย่าง ตอนนี้ครับ"
"ฯลฯ"
ฉลาดหลักแหลมดีแท้  มีช่องว่างเพียงแค่นิดเดียว พวกเขา/เธอ สามารถเอาช้างทั้งโขลงผ่านไปได้อย่างสบาย
สรุปว่า จากจำนวน นศท.451 นาย 
ยอดเข้ารับการฝึกสูงสุด  339 นาย
ยอดต่ำสูด  223 นาย

มองในแง่ร้าย
- สิทธิ  อยากได้  แต่ หน้าที่  ไม่ทำ
- อยากเป็นเหมือนคนอื่น แต่ ไม่อยากเหนื่อยเท่าคนอื่น
- ความเสียสละ มีน้อย  ความเห็นแก่ตัว มากกว่า
- อ่อนแอ ไร้วินัย 

มองในแง่ดี
- รู้จักเอาตัวรอด ในสถานการณ์ที่ลำบาก
- เป็นไปตามหลักถนอมกำลัง ตามยุทธวิธีของทหาร
- รู้จักใช้เล่ห์เหลี่ยม แก้ปัญหาอุสรรค

ในฐานะครูประจำชั้น 
- รู้สึกผิดหวัง เมื่อเทียบกับเป้าหมายที่คาดไว้
- คงต้องสร้างจิตสำนึกต่อหน้าที่ และความรับผิดชอบให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น
- ศูนย์ฝึก กับมหาลัย ต้องประสานการปฏิบัติให้ได้มากกว่าที่เป็นอยู่
- คนทุกวัย สอนได้ เรียนรู้ได้ โดยผู้มีความรู้และประสบการณ์
- ผลประโยชน์ส่วนรวม ต้องมาก่อนเสมอ 
- กฎ ระเบียบ ที่ได้รับการยอมรับแล้ว จะต้องไม่อ่อนตัวเพื่อใครอีก

              ***