30 ส.ค. 2559

อยากเรียน นศท.ต้องทำไง คะ

ถาม.....  หนูเป็นนักเรียน ม.3 อยากเรียน นศท.มากเลยค่ะ ต้องทำอย่างไรบ้างคะ

ตอบ.....เอาตามนี้เลย

คุณสมบัติ

1 เพศชาย หรือหญิงก็ได้  อายุ 15 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 22 ปี
2 มีสัญชาติไทย
3 ต้องเป็นนักเรียน ระดับมัธยมปลาย (สายสามัญ หรือสายอาชีพ ก็ได้) และ สถานศึกษาที่เรียนต้องเป็น
"สถานศึกษาวิชาทหาร" ด้วยนะ  คำว่าสถานศึกษาวิชาทหาร หมายถึง รร./วิทยาลัย /มหาลัย /
หรือสถาบันการศึกษา ที่ได้รับอนุญาตจากกองทัพบก ให้เป็นสถานศึกษาวิชาทหาร
4 ต้องมีขนาดร่างกาย ดังต่อไปนี้
   4.1 ชาย  นน.ไม่น้อยกว่า 42 กก./ส่วนสูง ไม่น้อยกว่า 154 ซม.
   4.2 หญิง นน.ไม่น้อยกว่า 40 กก./ส่วนสูง ไม่น้อยกว่า 148 ซม.
5 ต้องได้รับความยินยอม จากบิดา หรือมารดา หรือผู้ปกครองตามกฎหมาย
6 มีความประพฤติเรียบร้อย รับรองโดยผู้บริหารสถานศึกษา
7 ผลการเรียนเฉลี่ย มัธยมต้น ไม่น้อยกว่า 1.00
8 ต้องผ่านการทดสอบสมรรถภาพร่างกาย ทั้ง 3 ท่า ได้แก่
    8.1 วิ่งระยะทาง 800 เมตร ผู้ชาย ไม่เกิน 3.15 นาที/ผู้หญิง ไม่เกิน 4.00 นาที
    8.2 ดันพื้น เวลา 2 นาที    ผู้ชาย  ไม่น้อยกว่า 22 ครั้ง/ผู้หญิง ไม่น้อยกว่า 15 ครั้ง
    8.3 ลุกนั่ง  เวลา 2 นาที    ผู้ชาย  ไม่น้อยกว่า 34 ครั้ง/ผู้หญิง ไม่น้อยกว่า 25 ครั้ง

เอกสารที่ใช้ในการสมัคร

    9.1 ใบสมัคร (รด.1)
    9.2 รูปถ่ายสีขนาด 3x4 ซม. 1 ใบ แต่งเครื่องแบบนักเรียน ไม่สวมหมวก ไม่สวมแว่นตา
    9.3 ใบแสดงผลการเรียน ปพ.1
    9.4 สำเนาทะเบียนบ้าน ผู้สมัคร /บิดา/มารดา  อย่างละ 1 ฉบับ
    9.5 สำเนาหลักฐาน การเปลี่ยนชื่อ/ชื่อสกุล (ถ้ามี)
    9.6 ใบรับรองแพทย์ที่มีใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์

ขั้นตอนการสมัคร
    1 นักเรียน/นักศึกษา ขอใบสมัคร จากสถานศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่
    2 กรอกใบสมัครให้ครบทุกช่อง ส่งให้ครู /อาจารย์ที่สถานศึกษา พร้อมเอกสารที่ใช้สมัคร
    3 ครู /อาจารย์ นำนักเรียนไปสมัคร ตามสถานที่ /วัน/เวลา ที่ ศูนย์การฝึก นศท.ได้นัดหมายไว้
    4 นักเรียนเข้าสถานีต่างๆ ตามกระบวนการรับสมัคร และทดสอบสมรรถภาพร่างกาย
    5 ประมาณ 1 สัปดาห์ ประกาศผลการคัดเลือก
 
                                                 

                                                                 ******

28 ส.ค. 2559

4G LTE คืออะไร

G ย่อมาจาก Generation แปลว่า ยุค หรือช่วงสมัย

ความเป็นมาของแต่ละยุค  เริ่มตั้งแต่ 1G เลยนะ

ยุค 1G (1st Generation) เป็นยุคที่ใช้ระบบอนาล็อก (Analog) คือใช้สัญญาณวิทยุ
ในการส่งคลื่นเสียง (Voice) โดยสามารถโทรออก-รับสายได้อย่างเดียว ไม่สามารถส่งผ่าน
ข้อมูลใดๆ ทั้งสิ้น (ผู้เขียนเกิดทันนะ ตอนนั้นยังเป็นเด็กนักเรียน) ในยุคนั้นผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือ
ส่วนใหญ่มักเป็นบุคคลที่มีรายได้สูง

ยุค 2G (2nd Generation) เป็นยุคที่เปลี่ยนจากการส่งคลื่นวิทยุแบบอนาล็อก (Analog) 
มาเป็นการเข้ารหัสดิจิตอล (Digital) แทน โดยผู้ใช้สามารถใช้งานทางด้านข้อมูล
ก็คือสามารถส่งข้อความ SMS ได้นอกเหนือจากการโทรออก-รับสาย
รวมทั้งยังทำให้เกิดการบริการต่างๆ มากมาย เช่น การเปิดให้ดาวน์โหลด Ringtone, 
Wallpaper ซึ่งในยุคนี้ถือเป็นยุคเฟื่องฟูของโทรศัพท์มือถือ

ถัดมาได้มีการนำเทคโนโลยี GPRS (General Packet Radio Service) มาใช้
เพื่อเพิ่มความเร็วในการรับส่งข้อมูลให้มีการรับ-ส่งข้อมูลได้มากขึ้น
ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเช่น นอกจากส่งข้อความ SMS แล้ว
ยังสามารถส่ง MMS ได้อีกด้วย, เสียงเรียกเข้ามีการเพิ่มเสียงเป็นแบบ Polyphonic
และ True tone รวมทั้งเริ่มมีโทรศัพท์มือถือที่มีหน้าจอสี นอกจากหน้าจอขาว-ดำ
ซึ่งต่อมาได้มีการพัฒนาความเร็วในการส่งข้อมูลเพิ่มสูงขึ้น
โดยเรียกเทคโนโลยีนี้ว่า EDGE (Enhanced Data rates for Global Evolution) 
ซึ่งจะมีความเร็วมากกว่า GPRS ประมาณ 3 เท่า ทำให้สามารถเข้าเว็ปไซด์
เล่นอินเตอร์เน็ตได้ แต่ความเร็วยังมีจำกัด และไม่สามารถรองรับไฟล์ที่มีขนาดใหญ่ได้
เทคโนโลยี GPRS และ EDGE ถูกนำมาใช้ในระบบมาตรฐานคลื่นความถี่ GSM
(Gobal System for Mobile Communication) 
(ขนาด 2G ก็มันส์แล้ว ตอนนั้นผู้เขียนเริ่มทำงานใหม่ มือถือมีให้ผ่อนด้วยนะ
เข้าทางเลย ถอนมา  1 เครื่อง ยี่ห้อโนเกีย)

ยุค 3G (3rd Generation) เทคโนโลยีการสื่อสารในยุคที่ 3 ซึ่งจะมีความโดดเด่น
ในเรื่องของความเร็วในการเชื่อมต่อและการรับ-ส่งข้อมูลโดยเน้นการเชื่อมต่อ
แบบไร้สายด้วยความเร็วสูง เพื่อรองรับการใช้งานกับอุปกรณ์สมัยใหม่
ที่ช่วยให้สามารถใช้งานด้านมัลติมีเดียได้อย่างสมบูรณ์แบบ
และสามารถส่งข้อมูลทั้งภาพและเสียงในระบบไร้สายด้วยความเร็วที่สูง
ยุค 3G สำหรับประเทศไทยได้นำเทคโนโลยี UMTS ( Universal Mobile 
Telecommunications System) มาใช้ ซึ่งเป็นระบบเครือข่ายมาตรฐานใหม่
ที่ถูกพัฒนามาจากระบบมาตรฐานคลื่นความถี่ GSM ที่มีเทคโนโลยีหลักคือ W-CDMA
ต่อมาได้ถูกพัฒนาให้เป็นเทคโนโลยี HSPA+ ที่สามารถรับส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูงสุดถึง 42 Mbps 


ยุค 4G หรือ (4th Generation) ถือได้ว่าเป็นยุคปัจจุบันสำหรับทั่วโลกยุค 4G
หรือ (4th Generation) ถือได้ว่าเป็นยุคปัจจุบันสำหรับทั่วโลก
รวมถึงในประเทศไทยที่พึ่งจะจบการประมูลคลื่นความถี่กันไปเป็นที่เรียบร้อย
และได้เปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบแล้วในหลายๆพื้นที่

หลายๆ คนคงเคยได้ยินคำว่า 4G LTE และคงมีคำถามว่าแล้ว LTE คืออะไร
เกี่ยวข้องกับ 4G อย่างไร สำหรับ LTE นั้นย่อมาจาก Long Term Evolution 
เป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่ถูกนำมาทดลองใช้ในยุค 4G โดยเกิดจากความร่วมมือ
ของ 3GPP (3rd Generation Partnership Project) ที่มีการพัฒนาให้ LTE
มีความเร็วมากกว่ายุค 3G ถึง 10 เท่า โดยมีความสามารถในการส่งถ่ายข้อมูล
และมัลติมีเดียสตรีมมิ่งที่มีความเร็วอย่างน้อย 100 Mbps และมีความเร็วสูงสุดถึง 1 Gbps 
นอกจากเทคโนโลยี LTE แล้วยังมีอีก 2 เทคโนโลยีที่ถูกนำมาทดลองใช้เหมือนกัน
คือ UMB (Ultra Mobile Broadbrand) ที่พัฒนามาจากมาตรฐาน CDMA2000
ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในยุค 3G นั่นเองและ WiMax 
(Worldwide Interoperability for Microwave Access)
เป็นเทคโนโลยีบรอดแบนด์ไร้สายความเร็วสูง
โดยพัฒนามาจากมาตรฐาน IEEE 802.16 ซึ่งเป็นมาตราฐานเดียวกันกับ Wi-Fi
แต่มาตรฐาน Wimax สามารถส่งสัญญาณได้ไกลถึง 40 ไมล์ ด้วยความเร็ว 70 Mbps
และมีความเร็วสูงสุด 100 Mbps โดยปัจจุบันนี้มีเพียง 2 เทคโนยีที่ถูกนำมาใช้ในยุค 4G
คือ เทคโนโลยี LTE และ Wimax ซึ่งเกือบทุกประเทศทั่วโลกใช้เทคโนโลยี 4G LTE
แต่มีเพียงบางประเทศเท่านั้นที่ใช้เทคโนโลยี 4G Wimax
เช่น ประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน บังคลาเทศ เป็นต้น 

เทคโนโลยี 4G LTE ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากกว่า 130 ประเทศทั่วโลก 
ทำให้สามารถใช้งานบนมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก รวมถึงเมืองไทยด้วย
สำหรับบ้านเรา หลายท่านคงได้สัมผัส 4G แบบแท้ๆและเต็มรูปแบบกันบ้างแล้ว 
(คงรู้แล้วซินะว่า เร็ว แรงทะลุนรกเป็นอย่างไร  555 ผมหมายถึงคนที่เผลอเปิดใช้ข้อมูล
โดยไม่ได้ตั้งใจ หรือไม่ได้สมัครแพ็คเก็จสำหรับเล่นเน็ตเอาไว้ 
เติมเงิน 100 บาท เพี่ยง ชม.เดียว 4G สูบเกลี้ยงเลย)

อีกนิดหนึ่ง สำหรับคนที่จะซื้อมือถือเครื่องใหม่ ช่วงนี้ 3 G กำลังจะจากลาไป เห็นหลายยี่ห้อ
ลดสนั่นเลย เพิ่มเงินอีกหน่อย เอา 4 G เลยครับ และไม่ต้องกังวลว่าจะซื้อ 4G ผิดรุ่น
เพราะที่วางขายในเมืองไทยเป็น 4G LTE ทั้งนั้นเลย 
ส่วนท่านที่ใช้ 3G อยู่และเครื่องก็ยังใช้ได้ดี  จงใช้ต่อไปเถอะครับ เพราะทราบใดที่ยังมีคนใช้
ผู้ให้บริการสัญญาณเขาไม่เลิกหรอกครับ อะไรที่ขายได้เขาก็ขายวันยันค่ำครับ

10 ส.ค. 2559

ระบบการศึกษา และ ระดับการศึกษา ของไทย

ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 บัญญัติไว้ว่า...
ระบบการศึกษาของเมืองไทย แบ่งออกเป็น 3 ระบบ
-การศึกษาในระบบ 
-การศึกษานอกระบบ 
-การศึกษาตามอัธยาศัย 

(1) การศึกษาในระบบ เป็นการศึกษาที่กำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตรระยะเวลา

ของการศึกษา การวัดและการประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน
 
(2) การศึกษานอกระบบ เป็นการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมาย 

รูปแบบวิธีการจัดการศึกษา ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญ
ของการสำเร็จการศึกษา โดยเนื้อหาและหลักสูตรจะต้องมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหา
และความต้องการของบุคคลแต่ละกลุ่ม 

(3) การศึกษาตามอัธยาศัย เป็นการศึกษาที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจ ศักยภาพ 

ความพร้อมและโอกาส โดยศึกษาจากบุคคล ประสบการณ์ สังคม สภาพแวดล้อม 
หรือแหล่งความรู้อื่นๆ 

สถานศึกษาอาจจัดการศึกษาในรูปใดรูปแบบหนึ่งหรือทั้งสามรูปแบบก็ได้ ให้มีการเทียบโอน

ผลการเรียนที่ผู้เรียนสะสมไว้ในระหว่างรูปแบบเดียวกันหรือต่างรูปแบบได้ 
ไม่ว่าจะเป็นผลการเรียนจากสถานศึกษาเดียวกันหรือไม่ก็ตาม  รวมทั้งจากการเรียนรู้นอกระบบ
ตามอัธยาศัย การฝึกอาชีพ หรือจากประสบการณ์การทำงาน การสอน และจะส่งเสริมให้สถานศึกษา
จัดได้ทั้ง 3 รูปแบบ
 
การศึกษาในระบบมี 2 ระดับคือ 

-การศึกษาขั้นพื้นฐาน (ตั้งแต่ อนุบาล - ม.6,ปวช.)
-การศึกษาระดับอุดมศึกษา (ตั้งแต่ ปวส.,อนุปริญญา - ปริญญา)
 
1. การศึกษาขั้นพื้นฐานประกอบด้วย การศึกษาซึ่งจัดไม่น้อยกว่า 12 ปี ก่อนระดับอุดมศึกษา 

การศึกษาในระบบที่เป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานแบ่งเป็น 3 ระดับ 
1.1 การศึกษาก่อนระดับประถมศึกษา เป็นการจัดการศึกษาให้แก่เด็กที่มีอายุ 3 – 6 ปี 
1.2 การศึกษาระดับประถมศึกษา โดยปกติใช้เวลาเรียน 6 ปี 
1.3 การศึกษาระดับมัธยมศึกษา แบ่งเป็น 2 ระดับ ดังนี้ 
    1.3.1 การศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยปกติใช้เวลาเรียน 3 ปี 
    1.3.2 การศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยปกติใช้เวลาเรียน 3 ปี แบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้

        1.3.2.1 ประเภทสามัญศึกษา เป็นการจัดการศึกษาเพื่อเป็นพื้นฐาน เพื่อการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา 
        1.3.2.2 ประเภทอาชีวศึกษา เป็นการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพ 

หรือ ศึกษาต่อในระดับอาชีพชั้นสูงต่อไป 

2.การศึกษาระดับอุดมศึกษาแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ 

    2.1 ระดับต่ำกว่าปริญญา
    2.2 ระดับปริญญา 
การใช้คำว่า "อุดมศึกษา" แทนคำว่า "การศึกษาระดับมหาวิทยาลัย" ก็เพื่อจะให้ครอบคลุมการศึกษา
ในระดับประกาศนียบัตรหรือ อนุปริญญา ที่เรียนภายหลังที่จบการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว 

ทั้งนี้การศึกษาภาคบังคับจำนวน 9 ปีโดยให้เด็กซึ่งมีอายุย่างเข้าปีที่ 7 เข้าเรียน
ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจนอายุย่าง เข้าปีที่ 16  เว้นแต่สอบได้ชั้นปีที่ 9 ของการศึกษาภาคบังคับ  
หลักเกณฑ์และวิธีการนับอายุให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง 

การศึกษาภาคบังคับนั้นต่างจากการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่บังคับให้ประชาชน

ต้องเข้าเรียน แต่เป็นสิทธิ์ของคนไทย ส่วนการศึกษาภาคบังคับเป็นการบังคับให้เข้าเรียน
ถือเป็นหน้าที่ของพลเมือง ตามมาตรา 69 ของรัฐธรรมนูญ 

สรุปให้เห็นภาพอย่างชัดเจนได้ดังนี้

1 การศึกษาของไทยมี 3 ระบบ คือ -การศึกษาในระบบ ,การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย 
2 การศึกษาในระบบ แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ การศึกษาขั้นพื้นฐาน  และการศึกษาระดับอุดมศึกษา
การศึกษาขั้นพื้นฐาน แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับก่อนประถม,ประถม และมัธยม
มัธยม แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย
มัธยมศึกษาตอนปลาย แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ สามัญ และอาชีวศึกษา
6 อุดมศึกษา แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ต่ำกว่าปริญญา และ ปริญญา 
7 การศึกษาภาคบังคับ คือ ป.1 - ม.3 

สรุปให้ชัดเข้าไปอีกนิด ระดับการศึกษา

1 ป 1 - ป.6    เรียกว่า  ระดับประถมศึกษา
2 ม.1 - ม.3   เรียกว่า  ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
3 ม.4 - ม.6   เรียกว่า  ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (สายสามัญ)
4 ปวช.1 - ปวช.3 เรียกว่า ระดับอาชีวศึกษา (สายอาชีพ)
5 ปวส.,อนุปริญญา,ปริญญาตรี โท,เอก เรียกว่า ระดับอุดมศึกษา