10 ส.ค. 2559

ระบบการศึกษา และ ระดับการศึกษา ของไทย

ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 บัญญัติไว้ว่า...
ระบบการศึกษาของเมืองไทย แบ่งออกเป็น 3 ระบบ
-การศึกษาในระบบ 
-การศึกษานอกระบบ 
-การศึกษาตามอัธยาศัย 

(1) การศึกษาในระบบ เป็นการศึกษาที่กำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตรระยะเวลา

ของการศึกษา การวัดและการประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน
 
(2) การศึกษานอกระบบ เป็นการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมาย 

รูปแบบวิธีการจัดการศึกษา ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญ
ของการสำเร็จการศึกษา โดยเนื้อหาและหลักสูตรจะต้องมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหา
และความต้องการของบุคคลแต่ละกลุ่ม 

(3) การศึกษาตามอัธยาศัย เป็นการศึกษาที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจ ศักยภาพ 

ความพร้อมและโอกาส โดยศึกษาจากบุคคล ประสบการณ์ สังคม สภาพแวดล้อม 
หรือแหล่งความรู้อื่นๆ 

สถานศึกษาอาจจัดการศึกษาในรูปใดรูปแบบหนึ่งหรือทั้งสามรูปแบบก็ได้ ให้มีการเทียบโอน

ผลการเรียนที่ผู้เรียนสะสมไว้ในระหว่างรูปแบบเดียวกันหรือต่างรูปแบบได้ 
ไม่ว่าจะเป็นผลการเรียนจากสถานศึกษาเดียวกันหรือไม่ก็ตาม  รวมทั้งจากการเรียนรู้นอกระบบ
ตามอัธยาศัย การฝึกอาชีพ หรือจากประสบการณ์การทำงาน การสอน และจะส่งเสริมให้สถานศึกษา
จัดได้ทั้ง 3 รูปแบบ
 
การศึกษาในระบบมี 2 ระดับคือ 

-การศึกษาขั้นพื้นฐาน (ตั้งแต่ อนุบาล - ม.6,ปวช.)
-การศึกษาระดับอุดมศึกษา (ตั้งแต่ ปวส.,อนุปริญญา - ปริญญา)
 
1. การศึกษาขั้นพื้นฐานประกอบด้วย การศึกษาซึ่งจัดไม่น้อยกว่า 12 ปี ก่อนระดับอุดมศึกษา 

การศึกษาในระบบที่เป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานแบ่งเป็น 3 ระดับ 
1.1 การศึกษาก่อนระดับประถมศึกษา เป็นการจัดการศึกษาให้แก่เด็กที่มีอายุ 3 – 6 ปี 
1.2 การศึกษาระดับประถมศึกษา โดยปกติใช้เวลาเรียน 6 ปี 
1.3 การศึกษาระดับมัธยมศึกษา แบ่งเป็น 2 ระดับ ดังนี้ 
    1.3.1 การศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยปกติใช้เวลาเรียน 3 ปี 
    1.3.2 การศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยปกติใช้เวลาเรียน 3 ปี แบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้

        1.3.2.1 ประเภทสามัญศึกษา เป็นการจัดการศึกษาเพื่อเป็นพื้นฐาน เพื่อการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา 
        1.3.2.2 ประเภทอาชีวศึกษา เป็นการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพ 

หรือ ศึกษาต่อในระดับอาชีพชั้นสูงต่อไป 

2.การศึกษาระดับอุดมศึกษาแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ 

    2.1 ระดับต่ำกว่าปริญญา
    2.2 ระดับปริญญา 
การใช้คำว่า "อุดมศึกษา" แทนคำว่า "การศึกษาระดับมหาวิทยาลัย" ก็เพื่อจะให้ครอบคลุมการศึกษา
ในระดับประกาศนียบัตรหรือ อนุปริญญา ที่เรียนภายหลังที่จบการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว 

ทั้งนี้การศึกษาภาคบังคับจำนวน 9 ปีโดยให้เด็กซึ่งมีอายุย่างเข้าปีที่ 7 เข้าเรียน
ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจนอายุย่าง เข้าปีที่ 16  เว้นแต่สอบได้ชั้นปีที่ 9 ของการศึกษาภาคบังคับ  
หลักเกณฑ์และวิธีการนับอายุให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง 

การศึกษาภาคบังคับนั้นต่างจากการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่บังคับให้ประชาชน

ต้องเข้าเรียน แต่เป็นสิทธิ์ของคนไทย ส่วนการศึกษาภาคบังคับเป็นการบังคับให้เข้าเรียน
ถือเป็นหน้าที่ของพลเมือง ตามมาตรา 69 ของรัฐธรรมนูญ 

สรุปให้เห็นภาพอย่างชัดเจนได้ดังนี้

1 การศึกษาของไทยมี 3 ระบบ คือ -การศึกษาในระบบ ,การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย 
2 การศึกษาในระบบ แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ การศึกษาขั้นพื้นฐาน  และการศึกษาระดับอุดมศึกษา
การศึกษาขั้นพื้นฐาน แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับก่อนประถม,ประถม และมัธยม
มัธยม แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย
มัธยมศึกษาตอนปลาย แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ สามัญ และอาชีวศึกษา
6 อุดมศึกษา แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ต่ำกว่าปริญญา และ ปริญญา 
7 การศึกษาภาคบังคับ คือ ป.1 - ม.3 

สรุปให้ชัดเข้าไปอีกนิด ระดับการศึกษา

1 ป 1 - ป.6    เรียกว่า  ระดับประถมศึกษา
2 ม.1 - ม.3   เรียกว่า  ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
3 ม.4 - ม.6   เรียกว่า  ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (สายสามัญ)
4 ปวช.1 - ปวช.3 เรียกว่า ระดับอาชีวศึกษา (สายอาชีพ)
5 ปวส.,อนุปริญญา,ปริญญาตรี โท,เอก เรียกว่า ระดับอุดมศึกษา




ไม่มีความคิดเห็น: