23 ธ.ค. 2559

อย่าด่ากันเลย ผิดกฎหมาย ถูกจับ ปรับด้วยนะ

รวบรวมมาให้ดูกัน คำด่าทอเหล่านี้ ผิดกฎหมาย
ถูกปรับแถมโทษจำคุกอีกด้วย
ยิ่งโพสต์สื่อออนไลน์ด้วยแล้ว ยังผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์อีก
หลายๆคนบอกว่า เพื่อความสะใจ  โดนเข้าเมื่อไหร่เขาสะใจกว่าหลายเท่านะ
ทุกๆคำ ล้วนแล้วแต่เป็นคำพิภาคษาของศาลฎีกานะครับ














Cr. เพจทนายคู่ใจ

13 ธ.ค. 2559

เผยเส้นทางเข้าสู่เครื่องแบบ ทหารหญิง

             น้องผู้หญิงหลายคนใฝ่ฝันอยากจะเป็นรับราชการเป็นทหาร หรือมียศนำหน้าชื่อ 
หรือแม้กระทั่งแต่งเครื่องแบบสวยๆ มีอาชีพที่มั่นคง ได้รับการยอมรับจากสังคม บอกได้เลยว่า
ไม่ใช่เรื่องยาก น้องๆมีโอกาสถึง 3 ครั้งหรือมากกว่านั้น ที่จะสร้างความฝันของตนเองให้เป็นจริง

                โอกาสแรก จบ ม.น้องสามารถใช้วุฒิ ม.การสอบบรรจุในตำแหน่งเปิดรับ 
(ตรวจสอบรายละเอียดจากระเบียบการต่างๆของแต่ละเหล่าทัพ ตำแหน่งที่เปิดรับจะค่อนข้างน้อย 
หรืออาจจะไม่เปิดรับในบางปี) ได้ตามหน่วยราชการที่เปิดสอบ ไม่ว่าจะเป็น กองบัญชาการกองทัพไทย 
กองทัพบก กองทัพเรือ หรือกองทัพอากาศ เมื่อสอบได้ก็จะมีการอบรม และติดยศนายสิบ
(จ่าตรี หรือ จ่าอากาศตรี ขึ้นอยู่กับเหล่าทัพ)      เป็นนายสิบหญิง....เท่..นะ

             โอกาสที่สอง จบ ม.หรือ จบ ปวช. หรือ ปวส. ใช้วุฒิตามที่เรียนมาในการสอบบรรจุ
เช่นเดียวกัน (ตรวจสอบรายละเอียดจากระเบียบการต่างๆของแต่ละเหล่าทัพ ตำแหน่งที่เปิดรับ
จะมีเป็นจำนวนมาก) โดยสอบได้โดยตรงกับกองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ 
หรือกองทัพอากาศ เมื่อสอบได้ก็จะมีการอบรม และติดยศนายสิบ จ่าตรี หรือ จ่าอากาศตรี 
ขึ้นอยู่กับเหล่าทัพ)  เป็นนายสิบหญิงเช่นกัน แต่เท่กว่า..เพราะเงินเดือนมากกว่าเยอะ

              โอกาสที่สาม จบปริญญาตรี ใช้วุฒิตามสาขาที่เรียนในการสอบบรรจุ ซึ่งตำแหน่ง
ที่เปิดรับอาจจะระบุคุณวุฒิการศึกษาที่ทางหน่วยราชการต้องการ หรือในบางตำแหน่งอาจจะ
ไม่ได้ระบุโดยตรง  วุฒิปริญญาตรีเปิดรับทุกปี ที่กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ 
หรือกองทัพอากาศ เมื่อสอบได้ก็จะมีการอบรมและติดยศร้อยตรี (เรือตรี หรือ เรืออากาศตรี 
ขึ้นอยู่กับเหล่าทัพ)   อันนี้..เท่ที่สุด  เพราะเป็นผู้หมวดหญิง

               โอกาสสุดท้าย  จบอะไรก็ได้ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา  ขอเพียงแต่งตัวสวยๆ เฟี้ยวๆหน่อย  
เดินผ่าน  ขี่รถผ่าน หน้าค่ายทหารบ่อยๆ  หรือเข้าไปในกลุ่มทหารบ่อยๆ ทหารทุกเหล่าทัพจีบแน่  
ถ้าสวยหน่อย เลือกได้เลย จะเป็นคุณนายผู้พัน ผู้กอง ผู้หมวด  พี่จ่า พี่หมู่  ตำแหน่งนี้มีว่างเยอะแยะ
และเปิดรับตลอดเวลา เป็นตัวจริงบ้าง สำรองบ้าง แอบๆบ้าง เปิดเผยบ้าง  ฮ่าฮ่าฮ่า  
แล้วแต่ความสามารถ     อันนี้เท่สุดๆ ย้ำๆๆ เท่ที่สุด  มีอำนาจมากที่สุดด้วย

คุณสมบัติทั่วไป (สำหรับผู้ที่จะสอบบรรจุด้วยตัวเอง)
1.       อายุไม่ตำกว่า 18 ปี ไม่เกิน 35 ปี (มีการปรับเปลี่ยนในบางตำแหน่ง)
2.       ส่วนสูงไม่ตำกว่า 150 เซนติเมตร (บางตำแหน่งต้องการส่วนสูงมากกว่า 150 ซม.)
3.       คุณวุฒิการศึกษาตามที่ระบุ
4.       สัญชาติไทย
5.       อวัยวะ รูปร่าง ท่าทางและลักษณะร่ากายมีความเหมาะสม การสมัครสอบ

                ปกติจะมีการเปิดรับสมัครช่วงปลายปี จนถึงต้นปี และจะมีการสอบห้วงเดือน มีนาคม 
ถึง พฤษภาคม สมัครทางเวปไซด์หรือสมัครด้วยตนเองที่หน่วยราชการที่เปิดรับ

                ติดตามข่าวสารได้ตามเวปไซด์
             กองทัพไทย  www.rtarf.mi.th
                กองทัพบก  www.rta.mi.th
                กองทัพเรือ www.navy.mi.th
                กองทัพอากาศ www.rtaf.mi.th
                หรือตามเวปไซด์อื่นที่ประกาศข่าวรับราชการการสอบ

             การสอบ
                ภาควิชาการ (แต่ละตำแหน่งเปิดสอบไม่เหมือนกัน)
                วิชาความรู้ทั่วไป ( ข่าว  การเมือง,สังคม,กีฬา,เศรษฐกิจ,การทหาร,วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี)
                วิชาสามัญ (ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย)  
                วิชาแบบธรรมเนียมทหาร (วินัยทหาร,ระเบียบงานสารบรรณ,ระเบียบการลาเครื่องแบบ)        
                วิชาความรู้เฉพาะตำแหน่ง (ตามสาขาที่เปิดรับ)
                ภาคการสอบสัมภาษณ์และทดสอบร่างกาย
                            จะต้องมีการสอบสัมภาษณ์ ดูลักษณะท่าทาง การพูดการจา ไหวพริบ
               ทดสอบร่างกาย วิ่ง ว่ายน้ำ ซิทอัพ ดันพื้น

***  แค่นี้แหละสาวๆ  เลือกเอานะว่าจะเข้าสู่กองทัพด้วยวิธีไหน  ขอให้สำเร็จนะครับ ***

ประกาศผลการสอบภาคทฤษฎี นศท.ชั้นปีที่ 3 และ 5 (มทบ.42)

นรด.ประกาศผลการสอบ ปรากฎว่ามี นศท.สอบตกภาคทฤษฎี (ข้อเขียน) ระนาวเลย
ชั้นปีที่ 3 จำนวน 427 นาย  ชั้นปีที่ 5 จำนวน 306 นาย ไม่ต้องตกใจนะครับ  อย่างที่เคยบอกไว้ว่า หลักสูตรทางทหารนั้น ไม่เน้นความรู้  แต่เราเน้นภาคปฏิบัติ และระเบียบวินัย
คนที่สอบตกภาคทฤษฎี  เตรียมตัวสอบซ่อมได้เลย สอบแล้วไม่ผ่าน  ก็ซ่อมอีก
ซ่อมจนกว่าจะผ่านโน่นแหละ
ขอกระซิบเบาๆว่า  ข้อสอบชุดเดิม  (555 ชุดที่ทำไม่ได้นั่นแหละ)

ศฝ.นศท.มทบ.42 กำหนดวันสอบซ่อมไว้แล้ว ดังนี้
วันสอบซ่อม ชั้นปีที่ 3 และ 5   วันที่ 14,15,16 ธ.ค.59
รอบเช้า  รายงานตัว 0830    เริ่มสอบ 0900 - 1030
รอบบ่าย รายงานตัว 1330    เริ่มสอบ 1400 - 1530
ประกาศผล 20 ธ.ค.59
เลือกเอาเองนะ ใครจะไปสอบวันไหน รอบไหน  ตามสะดวกก็แล้วกัน

ถ้าไม่ไปสอบซ่อม มีผลนะ  สอบตกไงครับ เพราะคนที่ไม่ผ่านการสอบภาคทฤษฎี  จะไม่มีสิทธิ์
เข้ารับการฝึกภาคสนาม นศท.ที่ไม่ผ่านการฝึกภาคสนาม ไม่มีสิทธิ์เลื่อนชั้น หรือไม่มีสิทธิ์จบ

ทราบตามนี้แล้ว  ขอให้ดำเนินการตามที่กำหนดนะครับ  เพื่อนๆที่ผ่านแล้วเขานั่งคอยพวกที่สอบตก
อยู่นะ  เพื่อที่จะได้ไปภาคสนามด้วยกัน

20 พ.ย. 2559

ขอเชียร์ ให้นายกตู่ ยกเลิกแบงค์ 1000

ที่อินเดีย

นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ของอินเดีย ประกาศยกเลิกการใช้ธนบัตรมูลค่า 500 และ 1,000 รูปี 
ผ่านทางสถานีโทรทัศน์เมื่อวันที่ 8 พ.ย.59 ที่ผ่านมา โดยคำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้หลังเที่ยงคืน
ของวันเดียวกัน ทำให้ประชาชนชาวอินเดียพากันแห่ไปฝากธนบัตรทั้ง 2 ชนิด ที่ถือครองอยู่
ผ่านตู้เอทีเอ็มจนต้องเข้าแถวกันยาวเหยียด พร้อมกับถอนเงิน 100 รูปีออกมาใช้เพื่อให้มีเงินติดตัว
ในช่วงไม่กี่วันข้างหน้า เนื่องจากมีคำสั่งปิดธนาคารในวันที่ 9 พฤศจิกายนนี้ ทั้งยังจะระงับการทำงานของตู้เอทีเอ็มอีกด้วย

          "เงินนอกระบบ และการทุจริตเป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุดในการขจัดความยากจน" นายโมดีกล่าว

ทางการอินเดียจะพิมพ์ธนบัตรใหม่เพื่อทดแทนธนบัตรแบบเดิมที่ถูกยกเลิกไป และจะเปิดให้ประชาชน
สามารถนำเอาธนบัตรแบบเก่าที่ไม่สามารถใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนได้มาแลกเป็นธนบัตรใหม่ได้
ภายใน 50 วัน โดยผู้คนสามารถนำธนบัตรเก่ามาแลกเป็นธนบัตรใหม่ที่ธนาคารได้ตั้งแต่
วันที่ 10 พ.ย. -30 ธ.ค.59  

ด้านรัฐมนตรีคลัง อินเดีย เตือนว่าผู้ที่ถือครองเงินสดเป็นจำนวนมาก และนำมาแลกเป็นธนบัตรใหม่
จะถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดหลังจากนั้น

คำประกาศแบบสายฟ้าแลบดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการปราบปรามการ
ทุจริตคอร์รัปชั่น และผู้ถือครองเงินนอกระบบในประเทศ เพื่อให้เงินผิดกฎหมาย หรือเงินที่ได้มา
จากการทุจริตคอร์รัปชั่น จะถูกขจัดออกจากระบบ ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ไม่มีใครได้ข่าวล่วงหน้ามาก่อนเลย


บ้านเราก็ระวังเอาไว้นะ  เคยมีนักวิชาการอย่างคุณ เปลว สีเงิน เสนอให้ท่านนายก ประยุทธ 
ประกาศยกเลิกการใช้ธนบัตรฉบับละ 1000 บาท  ถ้าเกิดขึ้นได้จริงๆ ในเมืองไทย 
ผมคนหนึ่งล่ะ จะสะใจยิ่งนัก  จะรอดูว่าท่านนักการเมือง ท่านข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ นักค้ายาเสพติด  
นักธุรกิจสีเทา สีดำ ที่ไม่สามารถนำสด ร้อยล้าน พันล้าน  หมื่นล้าน เข้าฝากในแบงก์ได้ 
จะเอาเศษกระดาษพวกนั้นไปทิ้งที่ไหน 

16 พ.ย. 2559

การตรวจโรคทหารกองเกิน ก่อนวันเกณฑ์ทหาร


ทหารกองเกิน ซึ่งอยู่ในกำหนดเรียกเข้ารับการตรวจเลือกฯ ในเดือน เม.ย. ๖๐
ผู้ใดที่คิดว่าตนเอง มีโรคหรือสภาพร่างกาย หรือสภาพจิตใจที่ไม่สามารถรับราชการทหารได้
สามารถขอรับการตรวจโรคก่อนการ ตรวจเลือก (เกณฑ์ทหาร) ที่โรงพยาบาลในสังกัดกองทัพบก
จำนวน ๒๐ แห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ ๑ ต.ค. ๕๙ - ๒๐ ก.พ. ๖๐

เฉพาะทหารกองเกินที่จะเข้ารับการตรวจเลือกในปี ๒๕๖๐ เท่านั้น
คนที่ร่างกายปกติ สมบูรณ์ แข็งแรง ไม่ต้องไปตรวจให้สิ้นเปลืองนะครับ
เพราะการตรวจในกรณีนี้  แพทย์เขาจะตรวจเพื่อคัดกรองคนที่ป่วย หรือ ร่างกายไม่แข็งแรง
หรือ สภาพร่างกายผิดปกติ ไม่สามารถเป็นทหารเกณฑ์ได้
ผู้ขอให้ตรวจต้องออกค่าใช้จ่ายเอง หากแพทย์ตรวจพบว่า  ทหารกองเกินคนใดเป็นโรคที่ขัดต่อ
การรับราชการทหาร  คณะแพทย์จะออกเอกสารใบความเห็นแพทย์ให้ไว้
เพื่อใช้ยื่นต่อคณะกรรมการตรวจเลือกในวันตรวจเลือก
ท่านจะได้เอกสารรับรองผลการตรวจเลือกเป็นบุคคลประเภทที่ 4
แปลว่า "ไม่ต้องเป็นทหาร"  หากไม่ทำการตรวจตามกำหนดข้างต้น
ก็ต้องเข้าสู่กรรมวิธีหรือขั้นตอนการตรวจเลือกทหาร จับใบดำ ใบแดง

โรคที่ควรไปเข้ารับการตรวจได้แก่ โรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของ  ตา , หู , โรคหัวใจและ
หลอดเลือด  ,  โรคเลือดและอวัยวะสร้างเลือด  ,  โรคของระบบหายใจ  ,  โรคของระบบปัสสาวะ
โรคหรือความผิดปกติของกระดูก ข้อ  และกล้ามเนื้อ  ,  โรคของต่อมไร้ท่อ   และภาวะผิดปกติของเมตะบอลิสัม ,โรคติดเชื้อ ,  โรคทางประสาทวิทยา ,  โรคทางจิตเวช และโรคอื่น ๆ 
เช่น  ตับแข็ง  เป็นต้น 

 หากมีปัญหาหรือข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
๑. กองการสัสดี หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน เลขที่ ๒ ถนนเจริญกรุง แขวงพระบรมมหาราชวัง
เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๐๐ โทร. ๐ ๒๒๒๓ ๓๒๕๙, ๐ ๒๒๒๓ ๓๔๒๑
หรือตรวจดูได้ที่เว็บไซต์ www.Sussadee.com
๒. แผนกสรรพกำลังกองทัพภาคที่ ๑ - ๔
๓. ฝ่ายสรรพกำลังมณฑลทหารบก ทุก มณฑลทหารบก
๔. สำนักงานสัสดีกรุงเทพมหานคร/สำนักงานสัสดีจังหวัดทุกจังหวัด
๕. หน่วยสัสดีเขต/หน่วยสัสดีอำเภอทุกอำเภอ

โรงพยาบาลในสังกัดกองทัพบก ที่รับตรวจโรค  จำนวน ๒๐ แห่ง ทั่วประเทศ ได้แก่
ภาคกลาง - ได้แก่ รพ.พระมงกุฎเกล้า (ก.ท.), รพ.อานันทมหิดล (จว.ล.บ.), รพ.ค่ายธนะรัชต์ (ศร.) (จว.ป.ข.), รพ.ค่ายสุรสีห์ (จว.ก.จ.) และ รพ.ค่ายอดิศร (จว.ส.บ.)

ภาคตะวันออก - ได้แก่ รพ.ค่ายจักรพงษ์ (จว.ป.จ.), รพ.รร.จปร. (จว.น.ย.),
 รพ.ค่ายนวมินทราชินี (จว.ช.บ.)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   ได้แก่ รพ.ค่ายสุรนารี (จว.น.ม.), รพ.ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ (จว.อ.บ.), รพ.ค่ายวีรวัฒน์โยธิน (จว.ส.ร.), รพ.ค่ายประจักษ์ศิลปาคม (จว.อ.ด.) และ รพ.ค่ายกฤษณ์สีวะรา (จว.ส.น.) ภาคเหนือ - จ านวน ๔ แห่ง ได้แก่ รพ.ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (จว.พ.ล.), 
รพ.ค่ายจิรประวัติ (จว.น.ว.), รพ.ค่ายสุรศักดิ์มนตรี (จว.ล.ป.) และ รพ.ค่ายกาวิละ (จว.ช.ม.)

ภาคใต้  ได้แก่ รพ.ค่ายวชิราวุธ (จว.น.ศ.), รพ.ค่ายเสนาณรงค์ (จว.ส.ข.)
 และ รพ.ค่ายอิงคยุทธบริหาร (จว.ป.น.)

หลักฐานที่ต้องนำไปด้วยในการตรวจโรค ได้แก่
บัตรประจำตัวประชาชน,
ใบสำคัญ (แบบ สด.๙)
และหมายเรียกเข้ารับราชการทหาร (แบบ สด.๓๕)

4 พ.ย. 2559

สอบภาคทฤษฎี ปี 3 และ ปี 5 ปีการศึกษา 2559

หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (นรด.) กำหนดให้ นศท.ชั้นปีทีื 3 และ 5 สอบภาคทฤษฎี (ข้อเขียน) พร้อมกันทั่วประเทศ  ในวันเสาร์ที่ 19 พ.ย.59 ตั้งแต่เวลา 08.00

ศฝ.นศท.มทบ.42 ได้กำหนดสนามสอบไว้ 4 สนามสอบ ดังนี้

สนามสอบที่ 1 รร.หาดใหญ่วิทยาลัย (ญ.ว.) จำนวน 32 ห้องสอบ เป็นของชั้นปีที่ 3 ล้วนๆ
ทั้งชายและหญิง  มี รร.อะไรบ้างที่สอบที่ ญ.ว. สรุปง่ายๆว่า
กลุ่มวันจันทร์  อังคาร และพุธ สอบที่ ญ.ว.

สนามสอบที่ 2 รร.นวมินทราชูทิศทักษิณ  จำนวน 42 ห้องสอบ
เป็นห้องสอบของ ชั้นปีที่ 3 จำนวน 31 ห้อง  และชั้นปีที่ 5 ขำนวน 11 ห้อง
(ปี 5 ชาย,หญิง สอบที่ นวมิน ที่เดียว)
ชั้นปีที่ 3 ที่สอบสนามนี้ คือ รร.ที่อยู่ในกลุ่ม วันพฤหัส และ ศุกร์

สนามสอบที่ 3 รร.สตูลวิทยา   ปี 3 สตูล ทุก รร.สอบที่นี่ที่เดียว

สนามสอบที่ 4 รร.พัทลุง          ปี 3 พัทลุง ทุก รร.สอบที่ รร. จังหวัด นะครับ

ขอให้ นศท.ที่เข้าสอบทุกนาย ไปถึงสนามสอบ ก่อน 8 โมง นะครับ เพื่อเข้าแถวเคารพธงชาติและฟังคำชี้แจงจากกรรมการคุมสอบ  และกรรมการจะเป็นผู้พาเดินเข้าห้องสอบ
ข้อสอบ แบบ ปรนัย จำนวน 100 ข้อ เกณฑ์ผ่าน ร้อยละ 50

การแต่งกาย
ชั้นปีที่ 5 เครื่องแบบปกติแขนยาว (ชุดอ่อน)
ชั้นปีที่ 3 เครื่องแบบฝึก พับแขน

สิ่งของที่เตรียม ในการสอบ
1 ดินสอ 2 B + ยางลบ
2 ปากกา
3 บัตร นศท. หรือบัตรประชาชน
หมายเหตุ  นศท.ทุกนาย ต้องจดหรือจำ หมายเลขประจำตัว นศท.(10 หลัก)
และเลข รหัสสถานศึกษาและ ลำดับที่ ใน รด.25 เอาไว้ด้วย

สำหรับ นศท.ที่ประสบอุบัติเหตุ หรือเหตุสุดวิสัย จนไม่สามารถไปสอบในวันที่ 19 พ.ย.59 ได้
ให้ไปสอบเก็บตกในวันที่ 20 พ.ย.59 เวลา 08.00  ณ ศฝ.นศท.มทบ.42 ที่เดียว
และต้องมีเอกสารที่เชื่อถือได้ ว่าประสบเหตุสุดวิสัยจริงมาแสดงต่อกรรมการด้วย

*** ขอให้ผู้เข้าสอบทุกนาย จงโชคดี ***
*** หากมีใครโชคร้าย เจอกันอีกครั้ง สอบซ่อม  14-16 ธ.ค.59 ***
*** ผู้ที่มีสิทธิ์สอบซ่อม คือ คนที่ เข้าสอบในวันที่ 19,20 พ.ย.แล้ว สอบตก เท่านั้น ***

15 ต.ค. 2559

หัวหน้าชุด ครูฝึก นศท.ชั้นปีที่ 4

ในปีการศึกษา 2559 ศฝ.นศท.มทบ.42  กำหนดให้ดำเนินการ ฝึก นศท.ชั้นปีที่ 4 และ 5
ในห้วงวันที่ 10 ต.ค.59 ถึง 21 ต.ค.59 เว้นวันเสาร์ - อาทิตย์  สรุปว่าฝึก ศึกษา เป็นเวลา 10 วัน
วันละ 8 ชม. เริ่มตั้งแต่ 08.00 - 1200 ในรอบเช้า  และ 1300 - 1700 ในรอบบ่าย

ปีการศึกษา 2559 ได้รับเกียรติ ให้เป็นหัวหน้าชุดครูฝึกชั้นปีที่ 4 อีกครั้งหนึ่ง
แปลความง่ายๆ ผมเป็นครูประจำชั้นอีกแล้ว
ในปีนี้ มี นศท.สมัครเข้ารับการฝึกในชั้นปีที่ 4 เยอะพอควร
นศท.ชาย 299 นาย
นศท.หญิง  152 นาย

ตามระเบียบของการฝึก/เรียน นศท.มีข้อกำหนดไว้เยอะแยะ  เช่น...

*นศท. มีคะแนนความประพฤติคนละ 100 คะแนน ใครที่ถูกตัดคะแนน เกิน 50 คะแนน 
ไม่มีสิทธิ์สอบภาคปฎิบัติและภาคทฤษฎี (เท่ากับ สอบตก)

*ผู้มีสิทธิเข้าสอบภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ จะต้องมีเวลารับการฝึก/เรียน ครบ 80 ชั่วโมง

*นศท.ขาดเรียน1ครั้ง (4 ชม.) ถูกตัดคะแนนความประพฤติ 15 คะแนน และถูกตัดเวลาเรียน 4 ชม.
ฉะนั้น ถ้าขาดเรียน 4 ครั้ง จะถูกตัดคะแนนความประพฤติ 60 คะแนน หมดสิทธิ์สอบ


ในห้วงเดือนตุลาคม สถาบันอุดมศึกษาส่วนใหญ่กำลังสอบกลางภาค จึงเกิดปัญหาขึ้นสำหรับ นศ.ที่ต้องเข้ารับการฝึก นศท.ด้วย 

นศท.ไม่มาฝึก ครูฝึกบอกว่าขาด ต้องตัดเวลาเรียน และตัดคะแนนความประพฤติ  (นศท.ร้อง จ๊ากก)
นศ.ไม่เข้าสอบกลางภาคตามเวลาที่กำหนด อาจารย์บอกว่า ไม่มีคะแนนในรายวิชานั้น  
ฉันจำเป็นต้องให้เธอตกแน่นอน  (นศ.ร้องจ๊ากกก)

วงจรชีวิต ของ นศ.+ ชีวิต นศท. วุ่ยวายดีแท้   ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของมหาลัย และ ศฝ.นศท.

ครูฝึก นศท. บอกว่า "ช่วงเช้า มาฝึก นศท.ก่อน แล้วช่วงบ่ายจะให้ลาไปสอบ ทำได้ไหม?"
อจ.ที่ ม.บอกว่า "ฉันมีเวลาให้เธอแค่ 0900-1100 เท่านั้น ตอนบ่ายฉันมีงานต้องทำอีกเยอะ"
นศ.บอกว่า "เวรกรรมมีจริงว่ะ มันมาชนกันแบบนี้ เป็นกรรมของกูจริงๆ"

ครูประเคียง เคยแนะนำว่า "อย่าปล่อยให้ชีวิตล่องลองไปตามโชคชะตา เราเป็นมนุษย์ที่มีอาระยธรรม 
เราต้องลิขิตชีวิตของเราเอง" 
นศท.บ่นว่า "มหาลัย กับ ศูนย์ฝึก เอาเวลาของชีวิตผมไปหมดแล้ว 
เหลือวินาทีไหนที่ผมจะลิขิตชีวิตตัวเองได้บ้างล่ะครับ" 

ครูประเคียง ขอแนะนำอย่างนี้นะ  "ต.ค.นี้ เราอาจจะลิขิตชีวิตตัวเองไม่ได้  ก็ปล่อยมันไป  
ไว้ปีหน้า ปี 60 หรือปี 61 ก็ได้ วางแผนซะตั้งแต่ต้นปีการศึกษาเลย " 
555 หมายความว่า ยอมสอบตก นศท.ซักปี  2 ปี  ชีวิตคงจะราบลื่นขึ้นนะ

นศท.กลุ่มนี้ จะมีความรู้สึกกังวล ห่วงหน้า พะวงหลัง ล้วนแล้วแต่เป็นเด็กเรียน 
แน่นอนเกรดผลการเรียนออกมาดีตลอด 

ยังมี นศท.อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่ง อจ.ที่มหาลัย ได้ดำเนินการสอบเก็บคะแนนเสร็จเรียบร้อยแล้ว 
เห็นเพื่อนๆขอลาจากการฝึก ไปสอบที่มหาลัย ครูฝึกก็อนุญาตโดยไม่ซักถามอะไรมากมาย  
สามารถออกจากศูนย์ฝึกได้ ไม่ต้องฝึก ไม่ต้องตากแดด ตากฝน แล้วเราจะทนตากแดดตากฝนไปเพื่ออะไร 
ความคิดบรรเจิดเกิดขึ้น  ลงมือเข้าสู่ขั้นตอนการปฏิบัติ

"ครูฝึกครับ อจ.ไลน์มาว่า ผมไม่ผ่าน 2 วิชาครับ ให้ผมไปสอบแก้บ่ายนี้ครับ"
"ครูครับ มหาลัยแจ้งในเฟสว่า ให้ผมไปกรอกเอกสาร กยศ.บ่ายนี้ครับ"
"ครูครับ ที่หอมีปัญหา อจ.ที่ควบคุมหอพักโทรมาว่าให้ไปเปิดหอพักเพื่อค้นหาอะไรสักอย่าง ตอนนี้ครับ"
"ฯลฯ"
ฉลาดหลักแหลมดีแท้  มีช่องว่างเพียงแค่นิดเดียว พวกเขา/เธอ สามารถเอาช้างทั้งโขลงผ่านไปได้อย่างสบาย
สรุปว่า จากจำนวน นศท.451 นาย 
ยอดเข้ารับการฝึกสูงสุด  339 นาย
ยอดต่ำสูด  223 นาย

มองในแง่ร้าย
- สิทธิ  อยากได้  แต่ หน้าที่  ไม่ทำ
- อยากเป็นเหมือนคนอื่น แต่ ไม่อยากเหนื่อยเท่าคนอื่น
- ความเสียสละ มีน้อย  ความเห็นแก่ตัว มากกว่า
- อ่อนแอ ไร้วินัย 

มองในแง่ดี
- รู้จักเอาตัวรอด ในสถานการณ์ที่ลำบาก
- เป็นไปตามหลักถนอมกำลัง ตามยุทธวิธีของทหาร
- รู้จักใช้เล่ห์เหลี่ยม แก้ปัญหาอุสรรค

ในฐานะครูประจำชั้น 
- รู้สึกผิดหวัง เมื่อเทียบกับเป้าหมายที่คาดไว้
- คงต้องสร้างจิตสำนึกต่อหน้าที่ และความรับผิดชอบให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น
- ศูนย์ฝึก กับมหาลัย ต้องประสานการปฏิบัติให้ได้มากกว่าที่เป็นอยู่
- คนทุกวัย สอนได้ เรียนรู้ได้ โดยผู้มีความรู้และประสบการณ์
- ผลประโยชน์ส่วนรวม ต้องมาก่อนเสมอ 
- กฎ ระเบียบ ที่ได้รับการยอมรับแล้ว จะต้องไม่อ่อนตัวเพื่อใครอีก

              ***






30 ส.ค. 2559

อยากเรียน นศท.ต้องทำไง คะ

ถาม.....  หนูเป็นนักเรียน ม.3 อยากเรียน นศท.มากเลยค่ะ ต้องทำอย่างไรบ้างคะ

ตอบ.....เอาตามนี้เลย

คุณสมบัติ

1 เพศชาย หรือหญิงก็ได้  อายุ 15 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 22 ปี
2 มีสัญชาติไทย
3 ต้องเป็นนักเรียน ระดับมัธยมปลาย (สายสามัญ หรือสายอาชีพ ก็ได้) และ สถานศึกษาที่เรียนต้องเป็น
"สถานศึกษาวิชาทหาร" ด้วยนะ  คำว่าสถานศึกษาวิชาทหาร หมายถึง รร./วิทยาลัย /มหาลัย /
หรือสถาบันการศึกษา ที่ได้รับอนุญาตจากกองทัพบก ให้เป็นสถานศึกษาวิชาทหาร
4 ต้องมีขนาดร่างกาย ดังต่อไปนี้
   4.1 ชาย  นน.ไม่น้อยกว่า 42 กก./ส่วนสูง ไม่น้อยกว่า 154 ซม.
   4.2 หญิง นน.ไม่น้อยกว่า 40 กก./ส่วนสูง ไม่น้อยกว่า 148 ซม.
5 ต้องได้รับความยินยอม จากบิดา หรือมารดา หรือผู้ปกครองตามกฎหมาย
6 มีความประพฤติเรียบร้อย รับรองโดยผู้บริหารสถานศึกษา
7 ผลการเรียนเฉลี่ย มัธยมต้น ไม่น้อยกว่า 1.00
8 ต้องผ่านการทดสอบสมรรถภาพร่างกาย ทั้ง 3 ท่า ได้แก่
    8.1 วิ่งระยะทาง 800 เมตร ผู้ชาย ไม่เกิน 3.15 นาที/ผู้หญิง ไม่เกิน 4.00 นาที
    8.2 ดันพื้น เวลา 2 นาที    ผู้ชาย  ไม่น้อยกว่า 22 ครั้ง/ผู้หญิง ไม่น้อยกว่า 15 ครั้ง
    8.3 ลุกนั่ง  เวลา 2 นาที    ผู้ชาย  ไม่น้อยกว่า 34 ครั้ง/ผู้หญิง ไม่น้อยกว่า 25 ครั้ง

เอกสารที่ใช้ในการสมัคร

    9.1 ใบสมัคร (รด.1)
    9.2 รูปถ่ายสีขนาด 3x4 ซม. 1 ใบ แต่งเครื่องแบบนักเรียน ไม่สวมหมวก ไม่สวมแว่นตา
    9.3 ใบแสดงผลการเรียน ปพ.1
    9.4 สำเนาทะเบียนบ้าน ผู้สมัคร /บิดา/มารดา  อย่างละ 1 ฉบับ
    9.5 สำเนาหลักฐาน การเปลี่ยนชื่อ/ชื่อสกุล (ถ้ามี)
    9.6 ใบรับรองแพทย์ที่มีใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์

ขั้นตอนการสมัคร
    1 นักเรียน/นักศึกษา ขอใบสมัคร จากสถานศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่
    2 กรอกใบสมัครให้ครบทุกช่อง ส่งให้ครู /อาจารย์ที่สถานศึกษา พร้อมเอกสารที่ใช้สมัคร
    3 ครู /อาจารย์ นำนักเรียนไปสมัคร ตามสถานที่ /วัน/เวลา ที่ ศูนย์การฝึก นศท.ได้นัดหมายไว้
    4 นักเรียนเข้าสถานีต่างๆ ตามกระบวนการรับสมัคร และทดสอบสมรรถภาพร่างกาย
    5 ประมาณ 1 สัปดาห์ ประกาศผลการคัดเลือก
 
                                                 

                                                                 ******

28 ส.ค. 2559

4G LTE คืออะไร

G ย่อมาจาก Generation แปลว่า ยุค หรือช่วงสมัย

ความเป็นมาของแต่ละยุค  เริ่มตั้งแต่ 1G เลยนะ

ยุค 1G (1st Generation) เป็นยุคที่ใช้ระบบอนาล็อก (Analog) คือใช้สัญญาณวิทยุ
ในการส่งคลื่นเสียง (Voice) โดยสามารถโทรออก-รับสายได้อย่างเดียว ไม่สามารถส่งผ่าน
ข้อมูลใดๆ ทั้งสิ้น (ผู้เขียนเกิดทันนะ ตอนนั้นยังเป็นเด็กนักเรียน) ในยุคนั้นผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือ
ส่วนใหญ่มักเป็นบุคคลที่มีรายได้สูง

ยุค 2G (2nd Generation) เป็นยุคที่เปลี่ยนจากการส่งคลื่นวิทยุแบบอนาล็อก (Analog) 
มาเป็นการเข้ารหัสดิจิตอล (Digital) แทน โดยผู้ใช้สามารถใช้งานทางด้านข้อมูล
ก็คือสามารถส่งข้อความ SMS ได้นอกเหนือจากการโทรออก-รับสาย
รวมทั้งยังทำให้เกิดการบริการต่างๆ มากมาย เช่น การเปิดให้ดาวน์โหลด Ringtone, 
Wallpaper ซึ่งในยุคนี้ถือเป็นยุคเฟื่องฟูของโทรศัพท์มือถือ

ถัดมาได้มีการนำเทคโนโลยี GPRS (General Packet Radio Service) มาใช้
เพื่อเพิ่มความเร็วในการรับส่งข้อมูลให้มีการรับ-ส่งข้อมูลได้มากขึ้น
ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเช่น นอกจากส่งข้อความ SMS แล้ว
ยังสามารถส่ง MMS ได้อีกด้วย, เสียงเรียกเข้ามีการเพิ่มเสียงเป็นแบบ Polyphonic
และ True tone รวมทั้งเริ่มมีโทรศัพท์มือถือที่มีหน้าจอสี นอกจากหน้าจอขาว-ดำ
ซึ่งต่อมาได้มีการพัฒนาความเร็วในการส่งข้อมูลเพิ่มสูงขึ้น
โดยเรียกเทคโนโลยีนี้ว่า EDGE (Enhanced Data rates for Global Evolution) 
ซึ่งจะมีความเร็วมากกว่า GPRS ประมาณ 3 เท่า ทำให้สามารถเข้าเว็ปไซด์
เล่นอินเตอร์เน็ตได้ แต่ความเร็วยังมีจำกัด และไม่สามารถรองรับไฟล์ที่มีขนาดใหญ่ได้
เทคโนโลยี GPRS และ EDGE ถูกนำมาใช้ในระบบมาตรฐานคลื่นความถี่ GSM
(Gobal System for Mobile Communication) 
(ขนาด 2G ก็มันส์แล้ว ตอนนั้นผู้เขียนเริ่มทำงานใหม่ มือถือมีให้ผ่อนด้วยนะ
เข้าทางเลย ถอนมา  1 เครื่อง ยี่ห้อโนเกีย)

ยุค 3G (3rd Generation) เทคโนโลยีการสื่อสารในยุคที่ 3 ซึ่งจะมีความโดดเด่น
ในเรื่องของความเร็วในการเชื่อมต่อและการรับ-ส่งข้อมูลโดยเน้นการเชื่อมต่อ
แบบไร้สายด้วยความเร็วสูง เพื่อรองรับการใช้งานกับอุปกรณ์สมัยใหม่
ที่ช่วยให้สามารถใช้งานด้านมัลติมีเดียได้อย่างสมบูรณ์แบบ
และสามารถส่งข้อมูลทั้งภาพและเสียงในระบบไร้สายด้วยความเร็วที่สูง
ยุค 3G สำหรับประเทศไทยได้นำเทคโนโลยี UMTS ( Universal Mobile 
Telecommunications System) มาใช้ ซึ่งเป็นระบบเครือข่ายมาตรฐานใหม่
ที่ถูกพัฒนามาจากระบบมาตรฐานคลื่นความถี่ GSM ที่มีเทคโนโลยีหลักคือ W-CDMA
ต่อมาได้ถูกพัฒนาให้เป็นเทคโนโลยี HSPA+ ที่สามารถรับส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูงสุดถึง 42 Mbps 


ยุค 4G หรือ (4th Generation) ถือได้ว่าเป็นยุคปัจจุบันสำหรับทั่วโลกยุค 4G
หรือ (4th Generation) ถือได้ว่าเป็นยุคปัจจุบันสำหรับทั่วโลก
รวมถึงในประเทศไทยที่พึ่งจะจบการประมูลคลื่นความถี่กันไปเป็นที่เรียบร้อย
และได้เปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบแล้วในหลายๆพื้นที่

หลายๆ คนคงเคยได้ยินคำว่า 4G LTE และคงมีคำถามว่าแล้ว LTE คืออะไร
เกี่ยวข้องกับ 4G อย่างไร สำหรับ LTE นั้นย่อมาจาก Long Term Evolution 
เป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่ถูกนำมาทดลองใช้ในยุค 4G โดยเกิดจากความร่วมมือ
ของ 3GPP (3rd Generation Partnership Project) ที่มีการพัฒนาให้ LTE
มีความเร็วมากกว่ายุค 3G ถึง 10 เท่า โดยมีความสามารถในการส่งถ่ายข้อมูล
และมัลติมีเดียสตรีมมิ่งที่มีความเร็วอย่างน้อย 100 Mbps และมีความเร็วสูงสุดถึง 1 Gbps 
นอกจากเทคโนโลยี LTE แล้วยังมีอีก 2 เทคโนโลยีที่ถูกนำมาทดลองใช้เหมือนกัน
คือ UMB (Ultra Mobile Broadbrand) ที่พัฒนามาจากมาตรฐาน CDMA2000
ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในยุค 3G นั่นเองและ WiMax 
(Worldwide Interoperability for Microwave Access)
เป็นเทคโนโลยีบรอดแบนด์ไร้สายความเร็วสูง
โดยพัฒนามาจากมาตรฐาน IEEE 802.16 ซึ่งเป็นมาตราฐานเดียวกันกับ Wi-Fi
แต่มาตรฐาน Wimax สามารถส่งสัญญาณได้ไกลถึง 40 ไมล์ ด้วยความเร็ว 70 Mbps
และมีความเร็วสูงสุด 100 Mbps โดยปัจจุบันนี้มีเพียง 2 เทคโนยีที่ถูกนำมาใช้ในยุค 4G
คือ เทคโนโลยี LTE และ Wimax ซึ่งเกือบทุกประเทศทั่วโลกใช้เทคโนโลยี 4G LTE
แต่มีเพียงบางประเทศเท่านั้นที่ใช้เทคโนโลยี 4G Wimax
เช่น ประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน บังคลาเทศ เป็นต้น 

เทคโนโลยี 4G LTE ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากกว่า 130 ประเทศทั่วโลก 
ทำให้สามารถใช้งานบนมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก รวมถึงเมืองไทยด้วย
สำหรับบ้านเรา หลายท่านคงได้สัมผัส 4G แบบแท้ๆและเต็มรูปแบบกันบ้างแล้ว 
(คงรู้แล้วซินะว่า เร็ว แรงทะลุนรกเป็นอย่างไร  555 ผมหมายถึงคนที่เผลอเปิดใช้ข้อมูล
โดยไม่ได้ตั้งใจ หรือไม่ได้สมัครแพ็คเก็จสำหรับเล่นเน็ตเอาไว้ 
เติมเงิน 100 บาท เพี่ยง ชม.เดียว 4G สูบเกลี้ยงเลย)

อีกนิดหนึ่ง สำหรับคนที่จะซื้อมือถือเครื่องใหม่ ช่วงนี้ 3 G กำลังจะจากลาไป เห็นหลายยี่ห้อ
ลดสนั่นเลย เพิ่มเงินอีกหน่อย เอา 4 G เลยครับ และไม่ต้องกังวลว่าจะซื้อ 4G ผิดรุ่น
เพราะที่วางขายในเมืองไทยเป็น 4G LTE ทั้งนั้นเลย 
ส่วนท่านที่ใช้ 3G อยู่และเครื่องก็ยังใช้ได้ดี  จงใช้ต่อไปเถอะครับ เพราะทราบใดที่ยังมีคนใช้
ผู้ให้บริการสัญญาณเขาไม่เลิกหรอกครับ อะไรที่ขายได้เขาก็ขายวันยันค่ำครับ

10 ส.ค. 2559

ระบบการศึกษา และ ระดับการศึกษา ของไทย

ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 บัญญัติไว้ว่า...
ระบบการศึกษาของเมืองไทย แบ่งออกเป็น 3 ระบบ
-การศึกษาในระบบ 
-การศึกษานอกระบบ 
-การศึกษาตามอัธยาศัย 

(1) การศึกษาในระบบ เป็นการศึกษาที่กำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตรระยะเวลา

ของการศึกษา การวัดและการประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน
 
(2) การศึกษานอกระบบ เป็นการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมาย 

รูปแบบวิธีการจัดการศึกษา ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญ
ของการสำเร็จการศึกษา โดยเนื้อหาและหลักสูตรจะต้องมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหา
และความต้องการของบุคคลแต่ละกลุ่ม 

(3) การศึกษาตามอัธยาศัย เป็นการศึกษาที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจ ศักยภาพ 

ความพร้อมและโอกาส โดยศึกษาจากบุคคล ประสบการณ์ สังคม สภาพแวดล้อม 
หรือแหล่งความรู้อื่นๆ 

สถานศึกษาอาจจัดการศึกษาในรูปใดรูปแบบหนึ่งหรือทั้งสามรูปแบบก็ได้ ให้มีการเทียบโอน

ผลการเรียนที่ผู้เรียนสะสมไว้ในระหว่างรูปแบบเดียวกันหรือต่างรูปแบบได้ 
ไม่ว่าจะเป็นผลการเรียนจากสถานศึกษาเดียวกันหรือไม่ก็ตาม  รวมทั้งจากการเรียนรู้นอกระบบ
ตามอัธยาศัย การฝึกอาชีพ หรือจากประสบการณ์การทำงาน การสอน และจะส่งเสริมให้สถานศึกษา
จัดได้ทั้ง 3 รูปแบบ
 
การศึกษาในระบบมี 2 ระดับคือ 

-การศึกษาขั้นพื้นฐาน (ตั้งแต่ อนุบาล - ม.6,ปวช.)
-การศึกษาระดับอุดมศึกษา (ตั้งแต่ ปวส.,อนุปริญญา - ปริญญา)
 
1. การศึกษาขั้นพื้นฐานประกอบด้วย การศึกษาซึ่งจัดไม่น้อยกว่า 12 ปี ก่อนระดับอุดมศึกษา 

การศึกษาในระบบที่เป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานแบ่งเป็น 3 ระดับ 
1.1 การศึกษาก่อนระดับประถมศึกษา เป็นการจัดการศึกษาให้แก่เด็กที่มีอายุ 3 – 6 ปี 
1.2 การศึกษาระดับประถมศึกษา โดยปกติใช้เวลาเรียน 6 ปี 
1.3 การศึกษาระดับมัธยมศึกษา แบ่งเป็น 2 ระดับ ดังนี้ 
    1.3.1 การศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยปกติใช้เวลาเรียน 3 ปี 
    1.3.2 การศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยปกติใช้เวลาเรียน 3 ปี แบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้

        1.3.2.1 ประเภทสามัญศึกษา เป็นการจัดการศึกษาเพื่อเป็นพื้นฐาน เพื่อการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา 
        1.3.2.2 ประเภทอาชีวศึกษา เป็นการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพ 

หรือ ศึกษาต่อในระดับอาชีพชั้นสูงต่อไป 

2.การศึกษาระดับอุดมศึกษาแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ 

    2.1 ระดับต่ำกว่าปริญญา
    2.2 ระดับปริญญา 
การใช้คำว่า "อุดมศึกษา" แทนคำว่า "การศึกษาระดับมหาวิทยาลัย" ก็เพื่อจะให้ครอบคลุมการศึกษา
ในระดับประกาศนียบัตรหรือ อนุปริญญา ที่เรียนภายหลังที่จบการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว 

ทั้งนี้การศึกษาภาคบังคับจำนวน 9 ปีโดยให้เด็กซึ่งมีอายุย่างเข้าปีที่ 7 เข้าเรียน
ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจนอายุย่าง เข้าปีที่ 16  เว้นแต่สอบได้ชั้นปีที่ 9 ของการศึกษาภาคบังคับ  
หลักเกณฑ์และวิธีการนับอายุให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง 

การศึกษาภาคบังคับนั้นต่างจากการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่บังคับให้ประชาชน

ต้องเข้าเรียน แต่เป็นสิทธิ์ของคนไทย ส่วนการศึกษาภาคบังคับเป็นการบังคับให้เข้าเรียน
ถือเป็นหน้าที่ของพลเมือง ตามมาตรา 69 ของรัฐธรรมนูญ 

สรุปให้เห็นภาพอย่างชัดเจนได้ดังนี้

1 การศึกษาของไทยมี 3 ระบบ คือ -การศึกษาในระบบ ,การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย 
2 การศึกษาในระบบ แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ การศึกษาขั้นพื้นฐาน  และการศึกษาระดับอุดมศึกษา
การศึกษาขั้นพื้นฐาน แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับก่อนประถม,ประถม และมัธยม
มัธยม แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย
มัธยมศึกษาตอนปลาย แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ สามัญ และอาชีวศึกษา
6 อุดมศึกษา แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ต่ำกว่าปริญญา และ ปริญญา 
7 การศึกษาภาคบังคับ คือ ป.1 - ม.3 

สรุปให้ชัดเข้าไปอีกนิด ระดับการศึกษา

1 ป 1 - ป.6    เรียกว่า  ระดับประถมศึกษา
2 ม.1 - ม.3   เรียกว่า  ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
3 ม.4 - ม.6   เรียกว่า  ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (สายสามัญ)
4 ปวช.1 - ปวช.3 เรียกว่า ระดับอาชีวศึกษา (สายอาชีพ)
5 ปวส.,อนุปริญญา,ปริญญาตรี โท,เอก เรียกว่า ระดับอุดมศึกษา