29 มิ.ย. 2559

เวลาเรียน การลา ขาดเรียน การเรียนชด การตัดคะแนน

นรด.ได้กำหนดเป็นระเบียบไว้ฉบับหนึ่ง  ชื่อว่า "ระเบียบหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน
ว่าด้วย การปกครองบังคับบัญชา การฝึกและการสอบนักศึกษาวิชาทหาร พ.ศ.2555"
เพื่อเป็นแนวทางในการปกครองให้ นศท.อยู่ในระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง
ต่อสังคม เพื่อให้สำเร็จออกมาเป็นกำลังสำรองที่มีคุณภาพ เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ

สรุปสาระสำคัญยิ่งของระเบียบนี้ได้ว่า

1 นศท. มีคะแนนความประพฤติคนละ 100 คะแนน ใครที่ถูกตัดคะแนน เกิน 50 คะแนน ไม่มีสิทธิ์สอบภาคปฎิบัติและภาคทฤษฎี (เท่ากับ สอบตก)

2 ผู้ที่ยังไม่เคยรับการฝึกวิชาทหารมาก่อน ให้เริ่มทำการฝึก ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 และในปีการศึกษาหนึ่ง นศท.จะเข้ารับการฝึกได้เพียงชั้นปีเดียว (แปลว่า ให้เรียนปีการศึกษาละ 1 ชั้นปี)

3 ผู้มีสิทธิเข้าสอบภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ จะต้องมีเวลารับการฝึกครบ 80 ชั่วโมง

4 การลาและการขาดการฝึกในภาคปกติ
    -นศท.ขาดเรียน 1 ครั้ง (4 ชม.)  ถูกตัดคะแนนความประพฤติ 15 คะแนน และถูกตัดเวลาเรียน 4 ชม.
ฉะนั้น ถ้าขาดเรียน 4 ครั้ง จะถูกตัดคะแนนความประพฤติ 60 คะแนน
(เท่ากับ สอบตก ตามเงื่อนไขในข้อ 1)
    -หากขาดเรียน 3 ครั้ง ถูกตัดคะแนนความประพฤติ 45 คะแนน ยังมีสิทธิ์สอบอยู่นะ  แต่  จะต้องไปเรียนชดเชยให้ครบตามจำนวนวันที่ขาด
    -นศท.ที่ลาถูกต้อง ไม่ถูกตัดคะแนนความประพฤติ แต่ถูกตัดเวลาเรียน  ฉะนั้น นศท.ต้องไปเรียนชดเชยให้ครบ ตามจำนวน ชม.ที่ขอลา ไม่งั้นหมดสิทธิ์สอบ (ตามเงื่อนไขในข้อ 3)
    -หลักการเรียนชดเชย   เนื่องจากในสงขลาจัดการฝึกแบบกลุ่มวัน  ฉะนั้น ตั้งแต่ วันจันทร์ ถึง วันศุกร์
การเรียน/ฝึก ก็จะเหมือนกันทั้งสัปดาห์ ขอยกตัวอย่าง  คนที่เรียนกลุ่มวันจันทร์ สามารถไปเรียนชดเชย ในวันอังคาร หรือวันอื่นๆในสัปดาห์เดียวกันได้
    -หรือคนที่เรียนกลุ่มวันศุกร์ สามารถไปเรียนชดเชยล่วงหน้าได้ตั้งแต่วันจันทร์ ถึง วันพฤหัสบดี ในสัปดาห์นั้นๆได้เช่นกัน
    -นศท.ที่ไปแข่งขันวิชาการ แข่งขันกีฬา แข่งขันทักษะ เจ็บป่วยทางกาย ทางใจ หรือไม่มีอารมณ์จะไปฝึกในวันไหน เขียนใบลา แล้วส่งให้กับ อจ.ผกท.ได้ทุกกรณี  ศฝ.ไม่ขัดข้องแต่อย่างใด  เพียงแต่บันทึกไว้ว่า ใครลาหยุดในวันใดเท่านั้นเอง
    -ในปีการศึกษา นศท.ขอลาได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง แล้วแต่ความจำเป็น ขอย้ำว่า  การลาแต่ละครั้ง นศท.ต้องส่งใบลากับ อจ.ผกท.หรือ อจ.ที่ปกครองดูแล นศท. จะส่งใบลากับครูฝึกไม่ได้นะครับ
    -การเรียนชดเชย นอกจากการขอเรียนชดเชยในสัปดาห์เดียวกันแล้ว ศูนย์การฝึก อาจะกำหนดวันเรียนชดเชยเพิ่มขึ้นอีก เช่น เปิดให้เรียนชดเชยในวันเสาร์-อาทิตย์  หรืออาจจะกำหนดให้เรียนชดเชยในสัปดาห์สุดท้ายของปีการศึกษา เป็นสัปดาห์เรียนชดเชยก็ได้  ในกรณีเช่นนี้ นศท.ต้องติดตามข่าว จากครูฝึกเป็นระยะ
    -สำหรับ ศูนย์การฝึก นศท.มทบ.42 ได้กำหนดไว้ในตารางเรียนแล้ว โดยกำหนดให้ ห้วง 12-16 ธ.ค.59 เป็นสัปดาห์สำหรับการเรียนชดเชย (จดแปะไว้หัวเตียงได้เลยนะ นักลา นักขาดทั้งหลาย)
ขอสรุปสั้นๆว่า  ไม่ว่าลา  หรือขาด ต้องไปเรียนชดเชย  เหมือนกัน  เพียงแต่ลา  ไม่ถูกตัดคะแนน

5 การสอบประจำปีของ นศท.
    1 การสอบภาคปฎิบัติ  ประมาณ ปลายเดือน พ.ย. ไม่มีตกครับ เพราะถ้าสอบแล้วทำไม่ได้ ทำไม่ถูก ไม่เป็นที่พอใจของกรรมการ ต้องสอบปฎิบัติใหม่จนกว่าจะผ่าน
    2 การสอบภาคทฤษฎี  ประมาณ กลางเดือน ธ.ค. ข้อสอบรวมหมดทุกวิชา เลือกคำตอบ 100 ข้อ เกณฑ์ผ่านร้อยละ 60   กรณีไม่ผ่านให้สอบแก้ตัว 1 ครั้ง เรียกว่า "สอบซ่อม"

6 ปิดท้ายด้วยการตัดคะแนนความประพฤตินะครับ เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง
    1 ความผิดสถานหนัก  ตัดคะแนนตั้งแต่ 50 คะแนนขึ้นไป เช่น    เจตนาขัดคำสั่ง เจตนาก่อการวิวาทกับนักศึกษาวิชาทหารด้วยกัน  รายงานเท็จ  เสพย์หรือมีไว้ซึ่งยาเสพติดให้โทษ  เล่นการพนัน  ปลอมแปลงเอกสารหรือลายมือชื่อ  ทุจริตอย่างร้ายแรง เช่น การเปลี่ยนตัวสอบหรือเปลี่ยนตัวฝึก  ไม่รักษาความลับของทางราชการ  พกพาอาวุธหรือครอบครองอาวุธ  เจตนาการทําผิดกฎหมายอาญาอื่น ๆ
    2 ความผิดสถานกลาง ตัดคะแนนตั้งแต่ 21-49  คะแนน เช่น  ขัดคําสั่งหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่ง
ไม่รักษาความสามัคคีภายในหมู่คณะ   กล่าวคําเท็จ ทุจริตการสอบหรือฝ่าฝนระเบียบการสอบ
ทําให้สิ่งของทางราชการเสียหาย แสดงกิริยาวาจาไม่คารวะผู้บังคับบัญชาหรือผู้ทําการฝึก  หลีกเลี่ยงการฝึก  แสดงความเห็นแก่ตัวไม่เสียสละให้หมู่คณะ  เสพสุราหรือของมึนเมา  ไม่เคารพธงชาติ เป็นต้น
    3 ความผิดสถานเบา ตัดคะแนนไม่เกิน 20  คะแนน เช่น    ไม่ปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียม เล็บยาว เล็บไม่สะอาด ฟันไม่สะอาด  ผมยาว  มีหนวด เครา  เครื่องหมายสกปรก  แต่งกายไม่เรียบร้อย ไม่แสดงความเคารพผู้บังคับบัญชา  แสดงกิรยาวาจาไม่สุภาพ  หลับในขณะทําการฝึก/ศึกษา
คุยกันหรือเล่นกันในขณะทําการฝึก  ไม่ยอมเข้าแถวหรือเข้าแถวช้า เมื่อเรียกแถว ปัสสาวะไม่ถูกที่
ไม่รักษามารยาทในการรับประทานอาหาร  สูบบุหรี่ในระหว่างการฝึก/ศึกษา  เป็นต้น

สรุป เหตุที่ทำให้ นศท. สอบตก
1 มีเวลารับการฝึกน้อยกว่า 80 ชั่วโมง ของเวลาการฝึกตามหลักสูตร
2 มีคะแนนความประพฤติต่ำกว่า 50 คะแนน
3 ไม่มาทำการสอบตามวัน เวลา และสถานที่กำหนด
4 ทุจริตในการสอบ
5 ทำการสอบซ่อมแล้วคะแนนไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด
6 ไม่สามารถไปฝึกภาคสนามได้จะด้วยกรณีใดๆ ก็ตาม หรือฝึกภาคสนามไม่ครบตามที่กำหนด


เยอะนะ.......  รักษาเนื้อ รักษาตัวให้ตลอด 3 ปี นะครับ "ด้วยรักและเป็นห่วง"






28 มิ.ย. 2559

ถึง...น้องใหม่ นศท.ชั้นปีที่ 1 (ภาค 3 จบ)

เมื่อคราวที่แล้ว  ได้กล่าวถึงตอนปิดเทอม ของน้องใหม่ นศท.ปี 1 สงขลา
ปิดเทอม 1 เดือนมันช่างรวดเร็วซะเหลือเกิน ยังไปเที่ยวไม่ครบทุกที่ตามแผนที่วางไว้เลย เปิดเรียนอีกแล้ว นศท.ก็เปิดด้วย  โอ้ย เราแค่เด็ก ม.4 เอง ภารหน้าที่มันช่างมากมายเหลือเกิน    รู้ไว้ซะ   เป็นมนุษย์มันลำบากตรงหน้าที่และความรับผิดชอบนี้แหละ

ในเดือน พ.ย. ยังเรียนรู้ในห้องเรียนอยู่นะ  วิชาการทางทหารยังคงกรอกเข้าหูซ้ายทะลุหูขวาอีก 1 เดือนเต็มๆ  เช่นวิชาการข่าวเบื้องต้น วิชายุทธวิธี อันนี้คือหลักการรบแบบทหาร เรียนไปส่ายหน้าไป ภาษาทหารล้วนๆ  ไม่กระดิกถึงสมองซีกซ้ายเลย...เชื่อดิ   เอาไว้ค่อยรู้เรื่องตอนปี 2 ล่ะกัน  5555  มึนไปก่อน 1 ปี   ต่อด้วยวิชาแบบธรรมเนียมทหาร วิชาการกำลังสำรอง อันนี้ นศท.ปี 1 จำเป็นต้องรู้ เพราะแบบธรรมเนียมทหารกล่าวถึง กฏ ระเบียบ ข้อบังคับ และกฏหมายต่างๆที่ทหารทุกคน (รวมถึง นศท.) ต้องรู้และจดจำ จะได้ไม่เผลอทำผิดแบบธรรมเนียมทหาร ถ้ายึดถือแล้วปฎิบัติได้ถูกต้อง  ก็จะเป็นทหารที่สวมเครื่องแบบแล้วมองเห็นความสง่างามได้อย่างน่าชื่นชม

วิชาการกำลังสำรอง สำคัญมากนะครับ นศท.ทุกคนต้องรู้และเข้าใจเป็นอย่างดี ฉะนั้นตอนครูสอนในห้องเรียนต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะความรู้ในวิชานี้ต้องเกี่ยวข้องกับ นศท.ทุกคน โดยเฉพาะ นศท.ชาย ซึี่ง ได้เริ่ม"เกี่ยวติด"การเป็นทหารแล้วตั้งแต่ตัดสินใจสมัครเป็น นศท.ในวันแรก    555  ใครที่พูดว่าเป็น นศท.เพ่ื่อหนีเกณฑ์ทหาร  เค้าพูดผิดแล้วนะ (อย่าไปถือสาเค้า เพราะเค้าไม่รู้เรื่องอะไรเลยที่เกี่ยวกับ นศท.) การเป็น นศท.ที่สมบูรณ์แบบ   เรายึดถือตามบัญชีรายชื่อใน บัญชี รด.25 ซึ่ง หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (นรด.) จะประกาศรายชื่อทั่วประเทศพร้อมกัน ประมาณเดือน ส.ค.ของปีการศึกษา แปลว่า เป็นทหารเรียบร้อยแล้ว ในสถานะ "กำลังสำรอง" อย่างนี้ หนีทหารได้งัย

กลับมา เล่าต่อ... วิชาต่อไป คือ อุดมการณ์ความรักชาติ  วิชานี้เพื่อทบทวนถึงพระราชกรณียกิจพระมหากษัตริย์ไทย   วัยรุ่นยุคนี้ไม่ค่อยจะสนใจ แต่ นศท.ทุกคน ต้องรู้และเข้าใจถึงความสำคัญของสถาบันกษัตริย์ และ ต้องเทิดทูลรักษาไว้ด้วยชีวิต

ในช่วงปลายเดือน พ.ย.นศท.ชั้นปีที่ 1 จะได้เสียววูบกับชีวิตอีกครั้งหนึ่ง  กับกิจกรรมดระโดดหอสูง 34 ฟุต   เสียว....โว้ยยย....  ใครไม่ชอบของสูง ฉี่ราดแน่   พวกที่ชอบเล่นของสูง สนุกสนานแน่นอน

  

กิจกรรมสุดท้ายก่อนสอบ ภาคปฎิบัติและสอบภาคทฤษฎี คือ การยิงปืนด้วยกระสุนจริง กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ นศท.ชอบมาก สนุกมาก ยิงแล้วยังอยากจะยิงอีก  แต่.... กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ครูฝึกเครียดมาก ถึงมาที่สุดในชีวิต  เพราะจะมี นศท.จำนวนหนึ่ง ที่ยิงปืนด้วยความมันส์ มากๆ  ยกปืนขึ้นเล็ง  เล็งแบบฉันกลัวเสียง  ไม่เป็นไปตามที่ครูสอน  เพราะพวกหล่อน เล็งด้วยการหลับตาหมดทั้งสองตา  แล้วลั่นไกให้กระสุนพุ่งออกไปจากปากกระบอกปืน ในขณะที่ปากกระบอกปืน ส่ายไป ส่ายมา วนเวียนอยู่แถวๆสะดือครูฝึก   ฮายยย... แค่พูดถึงก็ เสียววาบ.....แล้วล่ะครับ  

เพี้ยงงงง ปีนี้ขออย่าให้คนพวกนี้สอบติดเข้ามาเลย  สาธุๆๆ 
  
จบเรื่องน้องใหม่ นศท.ปี 1 ด้วยความเสียวครับ







27 มิ.ย. 2559

ถึง...น้องใหม่ นศท.ชั้นปีที่ 1 (ภาค 2)


คราวนี้จะพูดถึง การฝึก นศท.ในภาพกว้างๆ เพื่อให้น้องใหม่ ชั้นปีที่ 1 ได้เห็นภาพรวมของการฝึก นศท.ตั้งแต่ต้นปี จนปิดเทอม  (หาๆๆๆ มีปิดเทอมด้วย) มีดี้  ปิดเทอมเดือนหนึ่งนะ ในห้วง ต.ค.
พอขึ้นเทอม 2 แสดงว่าใกล้จบแล้ว  เพราะฝึกอีกเดือนเดียวเท่านั้นเอง

ได้กล่าวไปแล้วในภาค 1  ว่า ในแต่ละปีการศึกษาของ นศท.นั้น   นศท.ทุกคนต้องเข้ารับการฝึกครบ 80 ชม.   แต่ในปีการศึกษา 2559 หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (นรด.) ได้กำหนดให้มีกิจกรรม รด.จิตรอาสา ซึ่งเป็นกิจกรรมหลัก ของ นศท.ทุกชั้นปี เพื่อให้ นศท.ได้ออกไปสู่ชุมชน ไปบำเพ็ญประโยชน์แก่ชุมชน โดยแบ่งเวลาเรียนหรือฝึก ที่ศูนย์ฝึก เพียง 48 ชม. อีก 32 ชม.ให้ นศท.ออกไปทำกิจกรรม รด.จิตอาสา "อย่างนี้ก็สบายล่ะซี"  ใช่ๆๆๆๆ  ปีการศึกษา 2559 ในยุค คสช.นี่ ช่างเอื้อต่อ นศท.จริงๆ ขอแสดงความยินดีต่อน้องใหม่ ปี 59 ด้วยนะ เรียนๆเล่นๆเน้นกิจกรรม เดี๋ยวเดียวก็จบปี

เอ้า.....พร้อมยัง  มาดูกันว่า นศท.ปี 1 ต้องเรียนรู้อะไรบ้าง เริ่มสัปดาห์ที่ 1 - 4 (มาเรียนด้วยชุดพละ)  เริ่มที่การฝึกการเข้าแถว  อันนี้ฝึกในสนามนะ  วันไหนมีแดดก็ได้ตากแดด วันไหนฝนตกก็ได้ตากฝน  (อย่าบ่นๆ ฝึกความอดทน งัย) จากนั้นก็ฝึกท่าซ้ายหัน ขวาหัน กลับหลังหัน  ท่าหมอบ (อันนี้ นศท.ชอบ เพราะได้นอน การหมอบก็คือการนอน) เอ้าลุกขึ้นยืน  ฝึกต่อ ท่าวันทยาหัต ฝึกการเดินเป็นแถว การวิ่งเป็นแถว หยุดอย่างไรให้พร้อมกัน
ลักษณะการฝึก ให้ฝึก 1 ชม.พัก 15 นาที บางที่ครูติดงานอื่นพักยาวเป็น ชม.ก็มี (555 เด็กชอบ)
ในเดิอนนี้ ก็จะมีกิจกรรม ไหว้ครู ของ นศท., กิจกรรมวันเข้าพรรษา  และการประชุมผู้ปกครอง

สรุปว่า ในช่วงเดือนแรกเป็นการฝึกในท่า"บุคคลมือเปล่า" มีสิ่ง นศท.ต้องจดจำ คือ คำปฎิญาณ ,จำลำดับเลขที่ของตนเอง และ จำหมวดหมู่กองร้อยของตนเอง

 


จัดแถว ฝึกต่อ  เดือนที่ 2 (ส.ค.) (แต่งเครื่องแบบ หล่อ...สวยเชียว เฟี้ยวแน่นอน)
เดือนที่ 2 เป็การฝึกท่าอาวุธ  ได้จับปืนครั้งแรกตื่นเต้นชะมัด มันเป็นปืนสำหรับฝึก
ชื่อ AK47 ตามภาพเลย  ใช้ฝึกเพื่อความคุ้นเคยนะ  ตอนจะยิงจริงๆ จะได้ยิง HK33
เดือนนี้ทั้งเดือน ได้เล่นกับปืนตลอดเลย ช่วงพักก็   เซลฟี่   แอ็คชั่น   กับปืนกันสนุกสนาน
กิจกรรมในเดือนนี้ คือ เทิดพระเกียรติ 12 สิงหามหาราชินี,กิจกรรมซาบซึ้งพระคุณแม่

เดือนที่ 3 เข้าห้องเรียนแล้วครับ เป็นภาควิชาการ (โอ้ย เครียด ปวดหัว) อย่ามโนไปเลย   นศท. จะได้สนุกสนานกับสไตล์การสอนของอาจารย์ทหารมืออาชีพ   555 โหด มัน ฮา ก็ตอนเรียนในห้องเรียนนี้ล่ะ
สภาพห้องเรียนก็เป็นห้องโถงขนาดใหญ่ จุคนได้ประมาณ 300-400 คน เรียนรวมกันทั้งหญิงและชาย มีเก้าอี้ให้นั่ง บางห้องมีโต๊ะ บางห้องก็ไม่มี ผู้สอนนั่งบนเวที ใช้เครื่องขยายเสียง มีจอโปรเจ็คเตอร์ 120 นิ้ว สภาพในห้องเรียนแบ่งเป็น 3 พวก อย่างชัดเจน ใครสั่งให้แบ่ง... ไม่มีหรอก....มันเป็นไปตามธรรมชาติทุกปี
พวกที่ 1 หน้าเวที พวกตั้งใจเรียน เห็น อจ.ชัด เห็นภาพประกอบชัด เสียงดังชัด นั่งตาแป๋วเลย
พวกที่ 2 เป็นพวกกลางๆ เรียนบ้างไม่เรียนบ้าง แต่ส่วนมากหลับ หลับจริงๆ พักประจำ ชม.แล้ว ยังไม่ไปไหนเลย เอากะมันซิ
พวกที่ 3 เป็นพวกหลังห้อง พวกนี้น่าเห็นใจที่สุด มองไม่เห็นหน้าคนสอน เสียงก็ไม่ได้ยินเพราะมัวแต่โม้กันทั้งวัน ภาพประกอบไม่ต้องพูดถึง พวกเขาไม่เคยหันไปมองเลย เสร็จจากคุยโม้ก็เข้าสู่ภาวะการก้มหน้า เล่นเกมส์ เล่นโซเชียล ทั้งวัน    แต่...พอพักประจำ ชม.   หายแว็บบบ


กิจกรรมในเดือนนี้เป็น   กิจกรรม รด.จิตอาสา
ให้ นศท.ออกไปบำเพ็ญประโยชน์กับชุมชน

หมายไว้เพราะเป็นเหตุ   ทุกสัปดาห์แรกของเดือน ตรวจผม ตรวจเล็บมือ ตรวจเครื่องหมาย เครื่องแบบ อย่าให้เจอผิดระเบียบนะ ไม่งั้นครูฝึกจะบ่นเบาๆว่า " มาเจอกับผม รับรอง ดุเดือด"

เดือน ต.ค. นศท.ใน จ.สงขลา ปิดเทอม ตามสบายเลย.........เพ้
                  ครูฝึกชุดที่ 1 ไปพบกับ นศท.จังหวัด สตูล
                  ครูฝึกชุดที่ 2 ไปพบกับ นศท.จังหวัด พัทลุง
                  ครูฝึกชุดที่ 3  นั่งรอ นศท.ชั้นปีที่ 4 และ 5  มาพบที่ค่ายพระปกเกล้า

เยอะนะ  ปิดเทอมก่อน  ไว้ต่อภาค 3 เร็วๆนี้












26 มิ.ย. 2559

ใบจบ ออกให้สำหรับ ผู้ที่สำเร็จการฝึก ปี 3 และ ปี 5


เอกสารฉบับนี้ เรียกชื่ออย่างเป็นทางการว่า " หนังสือสำคัญประจำตัวแสดงวิทยฐานะสำเร็จการฝึกวิชาทหารชั้นปีที่....." ออกให้โดยหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (นรด.) มีศักดิ์เทียบเท่าเป็นประกาศนียบัตร เพื่อยืนยันว่า ได้สำเร็จการฝึกวิชาทหารชั้นปีที่ 3 หรือชั้นปีที่ 5 แล้ว  เพราะเหตุที่ชื่อยาว และใช้ภาษาไม่คุ้นปาก บรรดาครูฝึกยุคก่อนๆได้ตั้งชื่อให้ใหม่ว่า   " ใบจบ " สั้น  ง่าย ได้ใจความด้วย

เมื่อสิ้นปีการศึกษาในเดือน มี.ค.  นรด.จะเป็นหน่วยงานที่จัดทำใบจบ ให้กับ นศท.ที่สำเร็จการฝึกชั้นปีที่ 3 และ 5 ทั้วประเทศ เสร็จแล้วก็จัดส่ง ไปยัง ศูนย์ฝึก นศท.ทั่วประเทศ  ใช้เวลาในการดำเนินการ ประมาณ 5 เดือน   ศูนย์ฝึก นศท.ทั่วประเทศ  รับมาแล้วก็จะตรวจสอบว่าครบตามยอด นศท.ในสังกัดของตนเองหรือไม่ ถ้าไม่ครบ ก็ต้องหาให้เจอว่าของใครขาดหายไป และรายงานขอเพิ่มเติม   ปกติ ศูนย์ฝึกจะได้รับใบจบจาก นรด.ประมาณเดือน ก.ค.ของปีถัดไป เช่น ของปีการศึกษา 2558 ศูนย์ฝึกจะได้รับประมาณ ก.ค.2559 เป็นต้น

ถ้าเป็นของผู้สำเร็จการฝึกชั้นปีที่ 5 เมื่อตรวจสอบถูกต้องแล้ว ก็สามารถประกาศให้ ผู้จบไปรับได้เลย ทุกๆ ศูนย์ฝึก นศท.จะเก็บรักษาไว้อย่างดี แม้จะผ่านไปแล้ว 5 ปี หรือ 10 ปี ก็สามารถไปติดต่อขอรับได้ ทุกวันทำการ  ทางที่ดี อย่าปล่อยไว้นาน ยิ่งนานวัน จะหายาก เพราะของใหม่มาทับถมของเก่าทุกๆปี

ที่ ศฝ.นศท.มทบ.42 มีข้อแม้ ในการรับใบจบว่า  เจ้าตัว หรือ พ่อ แม่ และ ผู้ปกครองเท่านั้น ไม่อนุญาตให้เพื่อนรับแทนเด็ดขาด  เพราะหากเกิดสูญหาย เจ้าของ (นศท.) ต้องไปติดต่อขอรับใบแทน ที่ นรด.ด้วยตนเอง นะครับ

ส่วนใบจบของ นศท.ชั้นปีที่ 3 ก็ต้องตรวจสอบเช่นกัน  จากนั้นก็ต้องถ่ายเอกสารเอาไว้ 2 ชุด เพื่อแนบกับเอกสารขึ้นทะเบียนและนำปลดชุดหนึ่ง (รายการนี้เฉพาะ นศท.ชาย) อีกชุดแนบกับเอกสารเพื่อขอแต่งตั้งยศ ให้กับ นศท.ทั้งชายและหญิง

เมื่อเสร็จสิ้นกับการตรวจสอบ และการถ่ายเอกสารแล้ว  ก็สามารถประกาศดังๆ ให้ นศท.ทั้ง ปี 3 และ 5 ไปรับเอาไปเชยชมกับความสำเร็จได้  ประมาณ เดือน ส.ค.

นศท.หญิงปี 3 ปี 5  รับแล้วก็เก็บไว้บ้านเลย เอารูปถ่าย ขนาด 2 นิ้ว ในเครื่องแบบ นศท.มาปิด ตรงด้านขวา ต่อจากลายเซ็นต์ของ ท่าน พลโท ก็น่ารักดีนะ

นศท.ชาย ปี 3 และ 5 ก็ปิดรูปถ่ายได้เหมือนกัน แต่อย่าเพิ่งเก็บนะครับ  เพราะต้องแสดงอิทธิฤทธิ์ อีกรอบ โดย นศท.ปี 3 ต้องใช้ใบจบตัวจริง ไปยื่นกับ สัสดีอำเภอ เพื่อขอรับ สด.8 (สุมดประจำตัวทหารกองหนุน)
อันนี้ช้าหน่อย ยกตัวอย่างรุ่นปี 58  รุ่นนี้ จบการศึกษา ในเดือน มี.ค.59  สามารถไปรับ สด.8  ประมาณ  มี.ค.60 (ประมาณนะครับ)
ดูเหมือนว่าช้าจัง  จริงๆแล้ว เจ้าหน้าที่เขาทำงานกันทุกวัน เพียงแต่ต้องตรวจสอบอย่างละเอียด รอบคอบ เพื่อไม่ให้มีข้อบกพร่อง ไม่ให้มีผีมาสอดแทรกเป็นทหารผีกองหนุน

*ในการออกสมุด สด.8   ถ้าออกให้กับ นศท.ก็ต้องให้มั่นใจว่าเข้ารับการฝึก นศท.ครบ 3 ปี และสอบผ่านทุกขั้นตอน
*ถ้าออกให้กับคนผ่านการเกณฑ์ทหาร ก็ต้องมั่นใจว่า ผู้นั้น จับใบแดงจริง  และอยู่ในกองทหารจนครบกำหนดปลดจริง

นศท.ชาย และหญิง ปี 5 ต้องใช้สำเนาใบจบ 1 ใบ เป็นเอกสารสำคัญ ในการขอแต่งตั้งยศเป็นว่าที่ร้อยตรี เคยมีหลายคนรับใบจบไปแล้ว เก็บไว้ที่หอพัก พอย้ายหอ หาไม่เจอ ไม่รู้หายไปตอนไหน เมื่อเรียนจนจบปริญญาตรี  ขอแต่งตั้งยศไม่ได้  ไปขอความช่วยเหลือที่ ศฝ.  ศฝ.ช่วยได้เพียง แนะนำให้ไปขอใบแทนที่ นรด. ต้องยุ่งยากลำบากอีกหลายวัน

เขียนวนไป วนมา สรุปสาระได้ 2 บรรทัดว่า
1 ใบจบ ของ นศท.ปี 3 และ 5 ทั้งชายและหญิง ไปรับได้ประมาณ เดือน ส.ค. ของปีที่จบ
2 ใบจบเก็บรักษาไว้ให้ดี อย่าทำหาย  OK?




25 มิ.ย. 2559

ถึง...น้องใหม่ นศท.ชั้นปีที่ 1 ศฝ.นศท.มทบ.42 สงขลา

นศท.เปิดการฝึกแล้ว เริ่ม จันทร์ที่ 27 มิ.ย.นี้

“ตื่นเต้นจัง จะได้แต่งเครื่องแบบแล้ว”    
No. เขาให้ใส่ชุดพละ”
“เอ้า  ไมล่ะ จ่ายตังค์ซื้อชุดแล้วนี่”         
“ระเบียบของทหารเขา รู้มาแบบนี้นะ รุ่นพี่บอก”



ช่แล้วครับ นศท.ชั้นปีที่ 1 -3 ที่สังกัด ศฝ.นศท.มทบ.42 สงขลา เริ่มฝึกตั้งแต่ 
27 มิ.ย.59 เป็นต้นไป  แต่ละ รร.ก็นำ นักเรียนไปฝึกตามกลุ่มวัน โดย ศฝ.ได้กำหนดเอาไว้แล้วว่า รร.ไหนไปฝึกวันไหน เช่น  รร.1 ถึง รร.10 ให้ไปฝึกในวันจันทร์   
รร.11 ถึง รร.20 ให้ไปฝึกในวันอังคาร เป็นต้น
  
สรุปแล้ว ใน 5 วัน นศท.ก็หมุนเวียนกันไปฝึกที่ ศฝ.ตามนัดหมาย  ส่วนครูฝึก 
ก็จำเป็นต้องฝึกหรือสอน ซ้ำๆๆๆๆ  จนครบ 5 วัน สัปดาห์ต่อไปจึงได้เปลี่ยนเรื่องใหม่
หรือฝึกท่าใหม่  สรุปแล้ว นักเรียน หรือ นศท. ไปเรียนสัปดาห์ละ 1 ครั้ง 
ครั้งละ 4 ชม.(13.00-17.00)  

น้อง นศท.ปี1 ต้องฝึกท่าเบื้องต้น 4 ครั้ง หรือ 16 ชม. ถึงจะได้แต่งเครื่องแบบ นศท. เต็มยศ   
เหตุที่ต้องกำหนดไว้เช่นนี้ ก็เพื่อ ให้มีบุคลิกแบบทหาร มีลักษณะท่าทาง เดิน วิ่ง 
ทำความเคารพแบบทหารได้ถูกต้องเสียก่อน เมื่อสวมเครื่องแบบแล้วถึงจะดูดี มีสง่า

ในหลักสูตร นศท.ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 – 5 กำหนดเวลาเรียนไว้ปีการศึกษาละ 80 ชม. แสดงว่า 
นศท.ในพื้นที่ จ.สงขลา ต้องไปเรียน 20 ครั้ง  ว้าว คำนวณแล้ว 5 เดือนพอดี  
ครบ 5 เดือนก็จบซิ   
No.ๆๆๆๆๆ  ยังมีกฎ กติกาอีกเยอะแยะ จบง่ายๆซะที่ไหน ดูนี่
นศท.ทุกคน ต้องเข้ารับการฝึกครบ 20 ชม. ถึงจะมีสิทธิ์สอบภาคทฤษฎี
นศท.ขาดเรียน 1 ครั้ง ถูกตัดคะแนนความประพฤติ 15 คะแนน (จากคะแนนความประพฤติ 100)
นศท.ที่ถูกตัดคะแนนความประพฤติ เกิน 50 คะแนน ไม่มีสิทธิ์สอบภาคทฤษฎี
นศท. ที่ผ่านการสอบภาคทฤษฎี เท่านั้น ถึงจะมีสิทธิ์ฝึกภาคสนาม
นศท. ที่ผ่านการฝึกภาคสนามเท่านั้น ที่มีสิทธิ์เลื่อนชั้น หรือจบการศึกษา ในชั้นปีที่ 3 และ 5
ฯลฯ ยังมีอีก แยะ ฯลฯ

ส่วนที่พัทลุงและสตูลต่างกันนะ ต่างกันในเรื่องเวลาฝึก
หลักสูตรเหมือนกัน ครูฝึกชุดเดียวกัน ที่สตูลและพัทลุงฝึกในห้วงเดือน ต.ค. ช่วงนั้นปิดเทอม 
นักเรียนว่างจากการเรียน จึงจัดการฝึกวันละ 8 ชม. (08.00-17.00) จันทร์ – ศุกร์ 
รวม 2 สัปดาห์ (80 ชม.เท่ากัน)

น้อง นศท.ปี1 สู้ๆนะ อดทนให้ผ่าน 16 ชม.จะได้แต่งเครื่องแบบที่รอคอยแล้ว 
หล่อแน่ สวยแบบสมาร์ท ชัวร์

คำเตือนจ้า  ใส่เครื่องแบบวันแรก อย่าลืมเอาผ้าใบใส่กระเป๋าไปฝึกด้วยนะ.......... 
ทำไม....ไม่บอก ให้คิดเอง

22 มิ.ย. 2559

ขอยืนยันว่า เรียนจบ รด.ปี 3 ไม่ต้องเกณฑ์ทหาร

ยังมีคนถามนะ  ว่า เรียน รด.แล้วต้องไปเกณฑ์ทหารหรือไม่
ตาม พรบ.ส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร พ.ศ.2503 ให้สิทธิ์แก่ผู้ที่สำเร็จการฝึกวิชาทหารชั้นปีที่ 3 ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นทหารกองประจำการ และนำปลดเป็นทหารกองหนุน สำเร็จในคราวเดียว  หมายความว่า   " จบ รด.ปี 3 ได้รับสิทธิ์ เป็นทหารกองหนุนเลย "  จึงไม่ต้องไปแสดงตัวเข้ารับการตรวจเลือกเข้ากองประจำการ  ตาม พรบ.รับราชการทหาร พ.ศ.2497

ที่จริงแล้ว คนที่เข้ารับการฝึกวิชาทหารนั้น พวกเขาสมัครเป็นทหารแล้วตั้งแต่วันที่ได้รับการคัดเลือก  ในสถานะ "ทหารกองหนุน" ต้องใช้เวลาฝึก ศึกษา เป็นเวลา 3 ปี ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (นรด.) กำหนด ตลอดระยะเวลา 3 ปี พวกเขาต้องฝึก/ศึกษา วิชาการทหาร แบบเดียวกับ ทหารเกณฑ์ แบบเดียวกับ นักเรียนนายสิบ และแบบเดียวกับ นักเรียนนายร้อย ทุกประการ เพียงแต่ ได้รับการปรับลดความเข้มข้น ให้เบาลง เพื่อให้เหมาะสมกับเยาวชนที่มีอายุ 15-18 ปี  ในแต่ละปีการศึกษา จะต้องผ่านการทดสอบ ภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ และการฝึกภาคสนาม เป็นขั้นตอนสุดท้าย ถึงจะได้เลื่อนชั้น หรือจบหลักสูตรในชั้นปีที่ 3

ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น  ว่า เรียนจบ รด.ปี 3 จะได้รับการขึ้นทะเบียนและปลดเป็นกองหนุน
คำว่า "กองหนุน" ก็คือทหารกองหนุนนั่นเอง หรืออีกความหมายหนึ่ง คือ กำลังสำรองของกองทัพ ฉะนั้น คนกลุ่มนี้ จะต้องเข้าสู กฏหมายอีกฉบับหนึ่ง นั่นคือ พรบ.กำลังพลสำรอง พ.ศ.2558

ประเด็นที่ก่อความสับสนขึ้น เรื่องเรียน รด.แล้วต้องเกณฑ์ทหารอีก เกิดขึ้นเมื่อ ปี 2556  เมื่อ พล.อ.ประยุทธ (ผบ.ทบ.ในขณะนั้น) กล่าวว่า "คนที่จบ รด.ปี 3 ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่มีความรู้ ยังหนุ่มยังแน่น เสียดายปลดเป็นกองหนุนซะแล้ว น่าจะให้รับราชการเป็นทหารกองประจำการอีกซักปี" นักข่าวก็เขียนข่าว ไปคนละทาง  ชาวบ้านก็ฮือ  เด็ก รด.ก็โวยวาย

อย่าลืมว่า  การเกณฑ์ทหาร มีกฎหมายรองรับ คือ พรบ.รับราชการทหาร พ.ศ.2497     การเรียน รด.หรือการฝึกวิชาทหาร ก็มีกฏหมายรองรับ คือ พรบ.ส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร พ.ศ.2503   หรือแม้กระทั่ง การบริหารจัดการกำลังพลสำรอง หรือกองหนุน ก็มีกฏหมายรองรับ นั่นคือ พรบ.กำลังพลสำรอง 2558 นั้นเอง  การให้ รด.ไปเป็นทหารเกณฑ์ฺ ต้องแก้กฏหมาย  นั่นคือ ต้องแก้ พรบ.สงเสริมการฝึกวิชาทหาร พ.ศ.2503

การเปลี่ยนแปลงตัวบทกฏหมาย ระดับ พรบ. ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ  ต้องผ่านการพิจารณากลั่นกรองเห็นชอบ โดยสภาทั้ง 2 สภา   นับตั้งแต่วันที่เป็นข่าว เมื่อ 2556  จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีใคร หรือหน่วยงานใด  เสนอให้ ครม.หรือ สภา แก้ไข กฏหมาย ให้ รด.ต้องไปเป็นทหารเกณฑ์เลยครับ

20 มิ.ย. 2559

ความหมายของเลข 13 หลัก ( เลขประจำตัวประชาชน )

กระทรวงมหาดไทย ได้ริเริ่มจัดทำโครงการจัดทำเลขประจำตัวประชาชนโดยนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2519  มีหลักการในการกำหนดเลข ดังนี้.-

                                       X- XXXX- XXXXX- XX- X
หลักที่ 1 หมายถึง ประเภทบุคคล ซึ่งแบ่งออกได้  8 ประเภท

หลักที่ 1 เป็นเลข  3 คือ คนไทยที่มีชื่อในทะเบียนบ้านตอนเริ่มโครงการให้เลข
หลักที่ 1 เป็นเลข  1 หมายถึงคนสัญชาติไทย แจ้งเกิดในกำหนดเวลา (15 วัน)
หลักที่ 1 เป็นเลข  2 หมายถึงคนสัญชาติไทย  แจ้งเกิดเกินกำหนดเวลา (หลัง 15 วัน)
หลักที่ 1 เป็นเลข  4 หมายถึงคนสัญชาติไทย ที่ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน ขณะที่นายทะเบียนดำเนินโครงการให้เลข
หลักที่ 1 เป็นเลข  5 หมายถึงคนสัญชาติไทย ที่ได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน เนื่องจากสำรวจตกหล่น
หลักที่ 1 เป็นเลข  6 หมายถึง คนต่างด้าว ผู้อพยพ หรือชนกลุ่มน้อย
หลักที่ 1 เป็นเลข  7 หมายถึง บุตรของบุคคลประเภทที่ 6 ซึ่งไม่มีสัญชาติไทย
หลักที่ 1 เป็นเลข  8 หมายถึง คนที่ได้สัญชาติไทย โดยการขอแปลงสัญชาติ

หลักที่ 2 ถึงหลักที่ 5 หมายถึง รหัสของสำนักทะเบียนที่ท่านมีชื่อในทะเบียนบ้านในขณะให้เลข (สำหรับเด็กเกิดใหม่จะหมายถึงถิ่นที่เกิดเลยที่เดียว)

หลักที่ 6 ถึงหลักที่ 10 หมายถึง กลุ่มที่บุคคลแต่ละประเภทตามหลักแรก หรือหมายถึงเล่มที่ของสูติบัตร แล้วแต่กรณี

หลักที่ 11 ถึงหลักที่ 12 หมายถึง ลำดับที่ของบุคคลในแต่ละกลุ่มประเภทตามระบบทะเบียนบ้าน หรือหมายถึงใบที่ของสูติบัตรในแต่ละเล่มตามระบบสูติบัตร

หลักที่ 13 หมายถึง เลขตรวจสอบความถูกต้อง (CHECK DIGIT) ของเลขประจำตัวประชาชน ทั้งหมด (12 หลักแรก) ว่ามีความถูกต้องหรือไม่ เช่น เป็นเลขที่เขียนผิด หรือเป็นเลขปลอมหรือไม่ โดยตรวจสอบและคำนวณด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์
                                                                                 ที่มา กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

สด.๙/ สด.๘ /สด.๔๓/ สด.๓๕ /สด.๓ มันคืออะไร...

สด.๙  ชื่อจริงว่า  ใบสำคัญทหารกองเกิน
เป็นเอกสารที่สัสดีอำเภอออกให้กับ ชายไทย ที่ได้ไปลงบัญชีทหารกองเกิน 
ณ หน่วยงานสัสดีอำเภอ หรือ เขต ตามภูมิลำเนาของบิดา ตอนอายุครบ ๑๗ ปี 
เมื่อได้มาแล้วต้องเก็บรักษาไว้ให้ดี  ใบ สด. ๙ (ใบสำคัญ ทหารกองเกิน) 
จะต้องใช้อีกครั้งเมื่อมีอายุครบ ๒๐ ปี  หรือถ้าสมัครเรียน นศท.ก็ต้องใช้ สด.๙ 
เป็นเอกสารสำคัญในการขึ้นทะเบียนและนำปลด  ตอนฝึก/ศึกษาในชัั้นปีที่ ๓ 

สด.๘  ชื่อจริงว่า  สมุดประจำตัวทหารกองหนุน แบ่งเป็น ๒ กรณี

กรณีที่ ๑ เป็นเอกสารที่สัสดี ออกให้กับชายไทย อายุ ๒๑ ถึง ๒๙ ปี ที่ไปเกณฑ์ทหาร 
จับได้ใบแดง หรือ สมัคร เป็น ทหารเกณฑ์ (ภาษาทหารเรียกว่า ทหารกองประจำการ) 
จะเป็น ๖ เดือน หรือ ๑ ปี หรือ ปีครึ่ง หรือ ๒ ปี หรือ มากกว่า และเป็นทหารเกณฑ์
จนครบกำหนดปลด จะได้รับ สด.๘ เป็นหลักฐาน ในวันปลด

กรณีที่ ๒ เป็นเอกสารที่สัสดีออกให้กับ ผู้ชายที่ สมัครเข้ารับการฝึกเป็น นศท. และสำเร็จการฝึก 

ชั้นปีที่ ๓  จะได้รับการขึ้นทะเบียนทหารกองประจำการและนำปลดเป็นทหารกองหนุน  
จะได้รับ สด.๘ (สมุดประจำตัว ทหารกองหนุน) ไว้เป็นหลักฐาน    
สด.๘ (สมุดประจำตัว ทหารกองหนุน) ทั้ง ๒ กรณี จะมีลักษณะ/สิทธิ์/ศักดิ์ศรี เหมือนกัน


สด.๔๓ ชื่อจริงว่า    ใบรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ากองประจำการ
สัสดี  ออกให้กับชายไทย ที่มีอายุ ๒๑ ถึง ๒๙ ปี และได้ไปเกณฑ์ทหาร จับได้ใบดำ 
ไม่มีโอกาสรับใช้ชาติในฐานะ ทหารเกณฑ์ (ทหารกองประจำการ)  คนกลุ่มนี้จะได้ใบ สด. ๔๓  
(ใบรับรองผลการตรวจเลือก) มาไว้เป็นหลักฐาน
ต้องเก็บรักษาไว้ให้ดีเช่นกัน เพราะเมื่อไปสมัครงาน ไม่ว่าภาครัฐ /ภาคเอกชน 
เขาจะขอดูหลักฐานการเป็นทหาร จึงจำเป็นต้องใช้ สด.๔๓ เป็นเอกสารยืนยัน 
(ผมไปคัดเลือกแล้ว....... เพียงแต่ว่า  ไม่ติด)

สด.๓ ชื่อจริงว่า   ทะเบียนกองประจำการ

เป็นเอกสารที่ หน่วยทหาร /รร.ทหาร / ศูนย์การฝึกนักศึกษาวิชาทหาร จัดทำขึ้น 
เพื่อเป็นหลักฐาน ขอนำตัวบุคคลตามบัญชีรายชื่อ ขอขึ้นทะเบียนกองประจำการ 
บุคคลที่กล่าวถึง คือ นักเรียนนายร้อย /นักเรียนนายสิบ/ ข้าราชการกลาโหมพลเรือนชาย /
นักศึกษาวิชาทหาร /อาสาสมัครทหารพราน ที่ผ่านการอบรมวิชาทหารแล้ว 
จะต้องมีการนำตัวขึ้น ทะเบียนทหารกองประจำการ ต่อสัสดีจังหวัด ซึ่งจะเป็นหลักฐาน 
ในการกำหนดหมายเลขประจำตัว ๑๐ ตัว ของ ทหาร

สด.๓ จะเก็บรักษาไว้ที่ สำนักงานสัสดีจังหวัดเท่านั้น  ใครมีความประสงค์จะใช้ 
สามารถไปขอคัดสำเนาได้ที่ สัสดีจังหวัดที่ขึ้นทะเบียนไว้  การขึ้นทะเบียนกองประจำการ 
จะขึ้นตามภูมิลำเนาทหาร ใน สด.๙ (ใบสำคัญทหารกองเกิน)




17 มิ.ย. 2559

การดำเนินการขอแต่งตั้งยศเป็น ว่าที่ ร้อยตรี


1. นศท. ที่สำเร็จการฝึกวิชาทหาร ชั้นปีที่ 5 แล้ว (จบปี 5 และได้รับใบจบ ด้วยนะ) พร้อมทั้งสำเร็จการศึกษาระดับ ปวส. อนุปริญญา หรือ ปริญญาตรี  สามารถขอแต่งตั้งยศ เป็นว่าที่ ร.ต. ได้ โดยให้ผู้ขอแต่งตั้งยศฯ  จะต้องดำเนินการดังนี้  
(ให้คนอื่นหรือแฟน ไปทำแทนไม่ได้นะจ๊ะ)
   1.1 ขอแต่งตั้งยศฯ ที่ส่วนกลาง (เมืองหลวง) ไปยื่นเอกสาร ได้โดยตรงที่ นรด. (ที่ห้อง กองเตรียมพล )
   1.2 คนบ้านนอก ต่างจังหวัด ให้นำหลักฐานมายื่นขอ แต่งตั้งยศฯ ได้ที่ ศฝ.นศท.ไหนก็ได้ ที่ใกล้ที่บ้านของท่าน 
(อันนี้ ขอแนะนำให้ไปยื่นที่ ศฝ.นศท.มทบ.42 เพราะ ครูฝึกรูปหล่อ  และใจดี้ดี ครับ )

2. หลักฐานประกอบการขอแต่งตั้งยศเป็นว่าที่ ร.ต. มีดังนี้
    2.1 สำเนาหนังสือสำคัญประจำตัวแสดงวิทยฐานะสำเร็จการฝึกวิชาทหารชั้นปีที่ 5 (ใบจบ)จำนวน 1 ฉบับ
    2.2 สำเนาหลักฐานคุณวุฒิ ปวส., อนุปริญญา หรือ ป.ตรี ขึ้นไป จำนวน 1 ฉบับ
    2.3 สำเนาทะเบียนบ้านผู้ขอยศ ที่มีชื่อ บิดา-มารดา จำนวน 1 ฉบับ
    2.4 สำเนาสมุดประจำตัวหารกองหนุน (สด.8) จำนวน 1 ฉบับ (เฉพาะผู้ชาย)
    2.5 สำเนาคำสั่งแต่งตั้งยศนายทหารประทวน (ถ้ามี) จำนวน 1 ฉบับ (ส่วนมากแล้ว ไม่มี ไม่ต้องหานะครับ)
    2.6 สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน จำนวน 1 ฉบับ
    2.7 สำเนาหลักฐานการเปลี่ยนชื่อ-สกุล (ถ้ามี) จำนวน 1 ฉบับ 

3. ผู้ขอแต่งตั้งยศฯ ที่นำหลักฐานมายื่นให้กับ เจ้าหน้าที่ ถูกต้อง ครบถ้วน สมบูรณ์ แล้ว เจ้าหน้าที่      
จะดำเนินการดังนี้
    3.1 ถ้ายื่นหลักฐานขอแต่งตั้งยศฯ ณ ศฝ.นศท.มทบ. (ที่บ้านนอก)ใกล้บ้านของท่าน หากหลักฐานของท่าน ถูกต้อง ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ศฝ.นศท.มทบ. จะส่งหลักฐานดังกล่าว ไปยัง นรด. ในทุก ๆ วันที่ 15 ของเดือน เพื่อให้ นรด. ดำเนินการต่อไป ดังนั้นในขั้นตอนนี้ หากหลักฐานของท่าน ถูกต้อง ครบถ้วนสมบูรณ์ จะต้องไม่ค้างอยู่ที่ ศฝ.นศท.จทบ. ที่ท่านยื่นหลักฐานเกินกว่า 30 วัน
    3.2 ถ้ายื่นหลักฐานที่เมืองหลวง (กองเตรียมพล กรุงเท็ป) รับหลักฐานประกอบการแต่งตั้งยศฯ จากผู้ยื่นหลักฐานขอแต่งตั้งยศฯ ใน กทม.เขตปริมณฑล และจาก ศฝ.นศท.มทบ. ตามข้อ3.1  แล้ว นรด. จะตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานอีกครั้ง แล้วจะดำเนินการยกร่าง คำสั่ง กห.แต่งตั้ง ยศฯ เพื่อเสนอตามสายการบังคับบัญชา ( กพ.ทบ. – กพ.ทหาร – สง.ปล.กห. ) เพื่ออนุมัติคำสั่งฯ ต่อไป ซึ่งในขั้นตอนนี้ จะใช้เวลาประมาณ 60 วัน และเมื่อคำสั่งฯ อนุมัติแล้ว นรด. จะแจกจ่ายไปให้ ศฝ.นศท.ทั่วประเทศ ต่อไป พร้อมกับ จะนำคำสั่งฯ ลงประกาศทางเว็บไซต์ นรด. (www.tdd.mi.th) ทุก คำสั่งฯ ด้วย 

4. อันนี้กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ เฟสบุ๊ค ศูนย์การฝึก นศท.ค่ายพระปกเกล้าจะนำลิงค์ มาโพสต์ให้ทราบทุกครั้ง 
ทุกคำสั่ง ที่ออกมา ครับผม  

5.เมื่อพบชื่อตัวเอง ในคำสั่งเป็นว่าที่ร้อยตรี แสดงว่า ความอดทน มุมานะ ฝ่าฟัน บุกบั่น เข้มแข็ง ฯลฯ ของท่านสำเร็จเรียบร้อยสมบูรณ์ 1,000 % แล้วครับ  แต่ๆๆๆๆ  เหลืออีกจิ๊ดหนึ่ง  คือ  จด จำ  เอามือถือถ่ายดีกว่า ว่า เป็นคำสั่งที่เท่าไหร่ เช่น คำสั่ง กห.ที่ “254/2559” จดจำตัวเลขนี้ไว้ครับ จากนั้น ไปที่ ศฝ.นศท.ไหนก็ได้ ทั่วประเทศ  แฮ่ๆๆ  ขอแนะนำให้ไปที่ ศฝ.นศท.มทบ.42อีกนั่นแหละ  ครูฝึกหล่อ นิสสัยดี ยังอยู่ครับ  ไปที่ห้อง ธุรการและกำลังพล ครับ ถึงแล้วบอกครูเขาไปว่า  “มาขอคัดสำเนาคำสั่งว่าที่ร้อยตรี ครับ  ชื่อผมอยู่ในคำสั่ง กห.ที่ 254/2559 ครับ ”   นั่งรอ 10 นาที  แล้วจะได้กระดาษ เอ 4 มา 1 ใบ มันคือสำเนาคำสั่ง ให้ท่านเป็นว่าที่ ร้อยตรี ที่ถูกต้องตามกฎหมาย  อย่าลืมถ่ายเอกสารไว้สัก 10 แผ่น  เผื่อเอาไปใช้หลายที่  เช่น ให้มหาลัย ตอนรับ ปริญญา, เอาไปอำเภอ เพื่อเปลี่ยนคำนำหน้านาม  ไงล่ะ  หมวด


16 มิ.ย. 2559

เตรียมตัวลงทะเบียน Any ID

Any ID คืออะไร
หมายถึง Any identification  เป็นการใช้เลขประจำตัวแบบใดก็ได้   
ที่บ่งชี้ถึงตัวตนของเราว่ามีอยู่จริง เช่น เลขประจำตัวประชาชน, เลขเบอร์โทรศัพท์ 
มาผูกไว้กับบัญชีธนาคารของเรา สำหรับใช้แทนเลขบัญชีธนาคาร 
ในการทำธุรกรรมทางเงินประเภทต่างๆ 
แปลไทยเป็นไทยได้ว่า  : เปลี่ยนเลขประจำตัวประชาชน หรือเลขเบอร์โทรศัพท์มือถือ
ให้เป็นเลขบัญชีธนาคาร  (ชัดเจนเลย)

ลงทะเบียนวันไหน ครับ
รัฐบาล กำหนดตั้งแต่ วันที่ 15 กรกฎาคม  2559 เป็นต้นไป 
สำหรับการลงทะเบียน  Any ID  ด้วยการเปลี่ยนเลขประจำตัวประชาชน 
หรือเบอร์โทรศัพท์มือถือ ให้เป็นบัญชีธนาคาร

Any ID มาจากไหน กำกับดูแลโดยใคร 
บริการดังกล่าวเป็นหนึ่งในโครงการหลักของรัฐบาลในชื่อหัวข้อ 
National e-Payment หรือระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์
ที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีด้านอินเทอร์เน็ต 
และสมาร์ทโฟน ที่ถูกพัฒนารวมถึงมีอัตราขยายตัวอย่างต่อเนื่อง  
เพื่อตอบรับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เนื่องจากเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องการ
ผลักดันประเทศไปสู่สู่สังคมที่ไม่ใช้เงินสด หรือ Cashless Society

ลงแล้ว ทำอะไรได้บ้าง  บอกหน่อยๆ
ยกตัวอย่างเลย  นาย ก. เป็นเพื่อนกับนาย ข. และต้องการจะโอนเงินให้แก่กัน 
เดิมทีเราจะต้องรู้เลขบัญชีธนาคารของอีกฝ่ายก่อนถึงจะโอนได้  แต่เมื่อมี Any ID 
อยู่ก็สามารถโอนเงินได้  เพียงแค่นาย ก. รู้เบอร์โทรศัพท์มือถือ 
หรือเลขประจำตัวประชาชนของ นาย ข. เท่านี้ก็สามารถโอนเงินให้กันได้แล้ว 
หรือว่าในอนาคตเราไปทานอาหารที่ร้านใดร้านหนึ่ง 
แต่ลืมพกบัตรเครดิตหรือเงินสด เราสามารถบอกหมายเลขเบอร์โทรศัพท์
หรือเลขประจำตัวประชาชนได้เลย จากนั้นร้านอาหารก็จะหักเงินในบัญชีธนาคาร
ของเราตามยอดเงินที่ต้องจ่าย 

และกับเกษตรกร รวมถึงประชาชนที่อยู่ในต่างจังหวัด การจะรับเงินแต่ละครั้ง
จากรัฐบาลมักมีความยุ่งยาก และได้รับไม่ครบจำนวนจริง 
เนื่องจากมีการหักออกด้วยค่าต่างๆ โดยตลอด 
แถมยังต้องเดินทางหากต้องไปขึ้นเงิน ดังนั้นถ้ามี Any ID อยู่
รัฐบาลจะโอนเงินให้กับหมายเลขประจำตัวนี้ได้เลย และเงินก็จะ 
เข้าสู่บัญชีในธนาคารโดยอัตโนมัติ ทำให้สะดวก คล่องตัว ประหยัดเวลา 
และไม่เสียค่าใช้จ่าย

จริงแน่นะ
วันที่ 15 กรกฎาคม 2559 จะเปิดระบบให้ประชาชนมาลงทะเบียน Any ID
เบื้องต้นอนุญาตเชื่อมได้ 1 บัตรประชาชนต่อ 1 หมายเลขบัญชี 
และ 1 หมายเลขโทรศัพท์มือถือเท่านั้น แต่อนาคตอาจจะเชื่อมโยงได้มากขึ้น
  เดือนกันยายน 2559 เปิดระบบให้บริการจ่ายสวัสดิการด้วยการ
  ใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชน
  เดือนตุลาคม 2559 เปิดระบบให้บริการชำระเงินผ่านเบอร์โทรศัพท์ 
  และผ่านระบบ Any ID
  เดือนธันวาคม 2559 เปิดระบบเรียกเก็บเงินเพื่อรองรับ e-Commerce

ปลอดภัยแน่นะ 
ชัวร์  เป็นโครงการของรัฐบาล และรัฐบาลรับประกัย

สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักก่อนลงทะเบียนใช้งาน Any ID
  เลขในบัตรประชาชน 1 ใบ ผูกกับบัญชีธนาคาร ได้ 1 บัญชี
  มือถือ 1 เบอร์ ผูกกับบัญชีธนาคารได้ 1 บัญชี 
  แต่  1 คน เอาเบอร์มือถือไปผูกกับบัญชีธนาคาร ได้ ไม่เกิน 3 เบอร์ นะครับ
  สรุปได้ว่า  บัตรประชาชน 1 และเบอร์มือถืออีก
  รวมแล้วไม่เกิน 4 บัญชี (หรือยังไม่พอ)

ต้องการลงทะเบียนจะต้องใช้อะไรบ้าง...?
เอาโทรศัพท์มือถือ, บัตรประจำตัวประชาชน, สมุดบัญชีธนาคาร 
(ส่วนในด้านบัญชีเงินฝากจะเป็นแบบออมทรัพย์ หรือกระแสรายวัน ก็ได้ 
และเป็นของธนาคารอะไรก็ได้ทั้งภาครัฐกับภาคเอกชน เอาสมุดบัญชีติดตัวไปลงทะเบียน)

ให้ผมไปลงทะเบียนที่ไหนอ่ะ
1 เดินทางไปธนาคารสาขาใกล้บ้านที่ต้องการผูกบัญชีไว้กับเลขประจำตัวประชาชน 
และเบอร์โทรศัพท์มือถือ  แล้วบอกว่ามาลงทะเบียน Any ID (วิธีนี้ปลอดภัย 
เจ้าหน้าที่ทำให้ เขากดตัวเลขให้ ไม่ผิดแน่ แถมได้เห็นหน้าสาวแบงค์สวยๆ 
ยิ้มหวานๆอีกด้วย) อ้อ มีบัญชีธนาคารกรุงไทย อย่าเผลอเดินไปแบงค์กรุ่งเทพ เสียล่ะ 
2 ใช้ช่องทางออนไลน์ หรือตู้กดเงินใกล้บ้านได้ เช่น ATM, Mobile Banking, 
Internet Banking  (อันนี้ คน IT อย่างผม นั่งทำที่บ้านได้เอง บายๆๆ)

  หมายเหตุ : ไม่มีค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียน  (yeaๆๆๆ ฟรี)

ประโยชน์ที่เราได้รับจาก Any ID
§  ปลอดภัย ลดการพกพาเงินสด ใช้จ่ายได้ทุกเวลาไม่ต้องไปธนาคาร 
§  ประหยัดค่าใช้จ่ายและลดเวลาการเดินทางในพื้นที่ห่างไกล 
§  ไม่ต้องจำเลขบัญชี สะดวกรวดเร็วในการทำธุรกรรมทางการเงิน
§  การรับเงินสวัสดิการจากภาครัฐจะทั่วถึง ครบถ้วนตรงเวลา 
§  มีความโปร่งใส ลดข้อผิดพลาด และลดปัญหาทุจริตจากการจ่ายด้วยเงินสดหรือเช็ค
§  อนาคตร้านค้า, รถโดยสาร, โรงแรม, โรงพยาบาล จะรองรับการจ่ายเงินด้วย Any ID

§  ค่าธรรมเนียมโอนเงินด้วยระบบ Any ID
วงเงิน
ค่าธรรมเนียม
ตํ่ากว่า 5,000 บาท
ฟรี/ไม่จำกัดจำนวนครั้ง
5,000 - 30,000 บาท
2 บาท/ครั้ง
30,000 - 100,000 บาท
5 บาท/ครั้ง
100,000 บาทขึ้นไป
10 บาท/ครั้ง

§  ที่มา : สมาคมธนาคารไทย