24 ก.ค. 2559

สด.9 กับ สด.8 ของ นศท.สำคัญอย่างไร

สด.8 กะ สด.9 เป็นเรื่องที่น่าสับสน จำผิดกันอยู่เสมอ บางคนจบ นศท.ปี 5 แล้ว 
ยังไม่รู้เลยว่า ทหารกองหนุนถือใบ สด.อะไรไว้ที่ตัวเอง

เอาล่ะ มาทำความเข้าใจกันเลย
สด.9 (ใบสำคัญทหารกองเกิน) เป็นเอกสารที่สัสดีอำเภอออกให้กับ ชายไทย 
ที่ได้ไปลงบัญชีทหารกองเกิน ตอนอายุครบ ๑๗ ปี  เมื่อได้มาแล้วต้องเก็บรักษาไว้ให้ดี 
อย่าให้สูญหาย ยับ ฉีกขาดชำรุด เป็นอันขาดนะครับ ใบ สด. ๙ จะต้องใช้อีกครั้งเมื่อ
ขึ้นทะเบียนและนำปลด ตอนฝึก/ศึกษาในชัั้นปีที่ ๓ ประมาณเดือน ต.ค. - พ.ย.
ในปีการศึกษานั้น 








**ภาพตัวอย่าง สด.9 หน้าตาหล่อประมาณนี้นะ ** 

  




การขึ้นทะเบียนทหารกองประจำการ และนำปลดเป็นทหารกองหนุน
โดยปกติ ครูฝึกจะแจ้งให้ทราบล่วงหน้าประมาณ 1 เดือน เพื่อให้ นศท.ได้เตรียมเอกสาร
การขึ้นทะเบียนและนำปลด ก็ขอให้เตรียมการแต่เนิ่นๆ บางอย่าทาง รร.เตรียมไว้ให้ 
บางอย่าง นศท.ต้องหาเตรียมด้วยตนเอง 
เอกสารที่ต้องใช้ในการขึ้นทะเบียนและนำปลด มีดังต่อไปนี้

1 รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว เครื่องแบบ นศท.จำนวน 2 รูป 
(รูปหน้าตรง ไม่สวมหมวก ไม่สวมแว่นตา ต้องถ่ายจากร้านถ่ายรูปมาตรฐานเท่านั้น 
ต้องบอกให้ละเอียดแบบนี้ เพราะมีคนฉลาดแหกกฎเป็นประจำ)

2.ใบสำคัญทหารกองเกิน(สด.9) ฉบับจริง 1 ฉบับ 
(ไม่มี สด.9 ตัวจริง ขึ้นทะเบียนนำปลดไม่ได้ เรียน นศท 3 ปี เหนื่อยเปล่า)

3.สำเนาใบสำคัญทหารกองเกิน (สด.9) 2 ฉบับ

(ทุกคนต้องมีสำเนามาด้วย 2 ฉบับ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ลงนามรับรองสำเนา แล้วส่งคืนให้กับ นศท.
ใช้เป็นหลักฐานในการสมัครสอบเข้า รร.ทหาร หรือใช้สมัครเรียนต่อในชั้นปีที่ 4 หรือใช้แสดงตนว่า
ได้ลงทะเบียนทหารกองเกินแล้ว)

4.หนังสือรับรองว่ากำลังศึกษาชั้น ม.6 หรือ ปวช. ฉบับจริง 1 ฉบับ

(ข้อนี้ รร.เป็นผู้ออกให้ อาจจะต้องใช้รูปถ่ายด้วย)

5.สำเนาหนังสือรับรองว่ากำลังศึกษา 2 ฉบับ

(จากข้อ 4 ถ่ายสำเนาอีก 2 ฉบับ)

6.สำเนาทะเบียนบ้านของ นศท. 2 ฉบับ

7.สำเนาทะเบียนบ้านบิดา 2 ฉบับ ของมารดา 2 ฉบับ


8.เอกสารหลักฐานอื่น ๆ ถ้ามี เช่น หนังสือเปลี่ยนชื่อสกุล นศท. หรือของบิดา-มารดา เป็นต้น 

อย่างละ 2 ฉบับ

9 ปากกาลูกลื่นสีน้ำเงิน คนละ 1 ด้าม เพราะทุกคนต้องเขียนเอกสารพร้อมกัน

(ห้ามใช้ปากกาเคมี ปากกาหมึกซึมโดยเด็ดขาด)

เมื่อถึงวันที่กำหนดขึ้นทะเบียนและนำปลด เอกสารหลักฐานทุกอย่างต้องครบ และ นศท.(ชาย)
ทุกคนต้องกรอกเอกสารด้วยลายมือของตนเอง เช่น แบบฟอร์ม สด.3,ประวัติทหารบก ,
สมุดประจำตัวทหารกองหนุน เป็นต้น พร้อมทั้งวัดรอบอก ชั้งน้ำหนัก วัดส่วนสูง 
เอกสารทั้งหมด ยกเว้นเฉพาะสำเนา สด.9 ถูกเย็บรวมเข้าด้วยกัน 
เป็นเอกสารการขึ้นทะเบียนและนำปลด  ส่วนสำเนา สด.9 จะส่งคืนให้กับ นศท.

จะเห็นได้ว่า สด.9 ฉบับจริง จะไม่อยู่กับ นศท.อีกต่อไป เพราะเป็นส่วนหนึ่งของ
การขึ้นทะเบียนและนำปลดไปแล้ว เอกสารนำปลดฯทั้งหมดจะถูกนำมาคัดแยกเป็น
จังหวัดและอำเภอ เพ่ื่อจัดส่งไปยัง จังหวัดต่างๆ ตามภูมิลำเนาของ นศท.
เพื่อให้ผู้ว่าราชการ และสัสดีจังหวัด ลงนาม 

ขั้นตอนในการดำเนินการต้องใช้เวลานานพอสมควรเพราะ
1 รอให้ นศท.จบการศึกษาในสายสามัญ หรือสายอาชีพ ต้องรอถึงเดือน มี.ค.ในปีถัดไป
2 รอให้ นศท.สอบภาคปฎิบัติ สอบภาคทฤษฎี (เดือน ธ.ค.)
3 รอให้ นศท.ผ่านการฝึกภาคสนาม (ม.ค. - มี.ค.ในปีถัดไป)

คนที่ผ่านครบทั้ง 3 ขั้นตอนดังกล่าว ถือว่า สำเร็จการฝึกชั้นปีที่ 3 ได้รับการขึ้นทะเบียน
เป็นทหารกองประจำการ และปลดเป็นทหารกองหนุน อย่างเต็มภาคภูมิ 
และถูกต้องตามกฎหมาย ทางราชการจะออกหนังสือให้เล่มหนึ่งเรียกว่า 
สมุดประจำตัวทหารกองหนุน (สด.8) ไว้ให้เป็นหลักฐานว่า ได้ผ่านการเป็นทหาร 
และปลดเป็นทหารกองหนุนเรียบร้อยแล้ว 







** สด.8 ของ ทบ.,ทร.,ทอ.**





ฉะนั้น สมุดประตัวทหารกองหนุน(สด.8)จะเป็นเอกสารทางทหารแทนที่ สด.9 
แล้วจะต้องใช้เป็นหลักฐานยืนยันการเป็นทหารต่อไปอีกอย่างน้อย 23 ปี 
หรือเมื่อ นศท.มีอายุครบ  46 ปีบริบูรณ์ ถึงจะพ้นหน้าที่ทหารกองหนุน นะครับ

ตามที่กล่าวไว้ว่า นศท.จบการศึกษาในสายสามัญ หรือสายอาชีพในเดือน มี.ค.ของปีถัดไป 
ตามกฎของกระทรางศึกษาธิการ  ส่วนการจบ นศท.ชั้นปีที่3 ตามระเบียบของหน่วยบัญชาการ
รักษาดินแดน ให้จบในเดือน พ.ค.ของปีถัดไป  ผู้ที่จบหรือสำเร็จการฝึกชั้นปีที่ 3 
จะได้รับ "หนังสือสำคัญประจำตัวแสดงวิทยะฐานะสำเร็จการฝึกวิชาทหารชั้นปีทีี่ 3" (ใบจบ)







** ตัวอย่าง ใบจบ หน้าตาไม่ค่อยหล่อ **






ผู้ที่สำเร็จการฝึกชั้นปีที่ 3 จะได้รับใบจบประมาณเดือน ส.ค.ของปีถัดไป

สงสัยนานแล้ว สด.8 รับเมื่อไหร่ รับที่ไหนล่ะ
ขอตอบโดยยกตัวอย่างของรุ่นปี 59 ซะเลย
นศท.ชั้นปีที่ 3 ปีการศึกษา 59 เริ่มฝึก ตั้งแต่ มิ.ย.59 จนถึงภาคสนามก็ มี.ค.60
จะได้รับใบจบประมาณ ส.ค.60 
จะได้รับ สด.8 ประมาณ ม.ค.61

ใบจบไปรับด้วยตนเองที่ ศูนย์การฝึก นศท.มทบ.ที่เราฝึก
สด.8 ไปรับด้วยตนเองที่สัสดีอำเภอ (ที่ลงทะเบียนทหารกองเกิน ตอนอายุ 17 ปี)
และอย่าลืม นำใบจบไปยืนยันให้สัสดีได้เห็นด้วย 

สรุปว่า 
อายุ 17 ถือ สด.9
จบปี 3 แล้ว ถือ สด.8 
อายุ 46 ปี ปล่อยวาง  


21 ก.ค. 2559

7 สิงหาคม มาตามนัด














อย่าผิดคำสัญญานะครับ  รับ ไม่รับ  แล้วแต่ดุลยพินิจ  7 สิงหา มาตามนัด

บัตร ATM ระบบซิป ไปถึงไหนแล้ว

บัตร ATM ระบบซิป ไปถึงไหนแล้ว

ตั้งแต่  16 พฤษภาคม 59  ถือเป็นวันแรกที่ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย 
มีผลบังคับใช้ ส่งผลให้บัตรเอทีเอ็ม -บัตรเดบิตที่ออกใหม่จะต้องเปลี่ยนมาใช้ระบบชิป 
ตามมาตรฐาน EMV แทนระบบแถบแม่เหล็กอย่างในปัจจุบัน  
(ส่วนลูกค้าเดิม ที่ใช้บัตรแถบแม่เหล็กแบบเดิมยังใช้ต่อไปได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562)














ผมได้แอบไปสำรวจ ในหลายๆธนาคาร เพื่อหาคำตอบว่า แต่ละธนาคารพร้อมแค่ไหน
ที่จะปฏิบัติตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารไหนคิดค่าเปลี่ยนบัตรเท่าไหร่ 
โดยสำรวจจากเว็บไซต์และ Facebook ของธนาคารต่างๆ เน้นประเด็นเรื่องวันที่เริ่มให้บริการ
และค่าธรรมเนียมของบัตรแบบใหม่ ได้ข้อมูลมาหลายธนาคารครับ 

..........................

ธนาคารกรุงเทพ (BBL)













ธนาคารกรุงเทพ ถือเป็นธนาคารแห่งแรกในไทยที่นำระบบชิป EMV มาใช้ตั้งแต่ปี 2552 
ปัจจุบันบัตรเดบิตของธนาคารกรุงเทพ เป็นบัตรแบบชิปทั้งหมดแล้ว 
(บัตรระดับพื้นฐานสุดคือ Be1st) ส่วนบัตรเอทีเอ็มแบบเดิม 
(บัวหลวงเอทีเอ็มและบัวหลวงพรีเมียร์) ที่เป็นแถบแม่เหล็กยังใช้งานได้ถึงปี 2562 
โดยผู้ใช้บัตรสามารถเปลี่ยนมาเป็นระบบชิปได้ฟรี
ส่วนคนที่ทำบัตรใหม่ จ่ายค่าธรรมเนียมแรกเข้า 100 บาท ค่าธรรมเนียมรายปี 200 บาท
...........................................

ธนาคารกรุงไทย (KTB)











ธ.กรุงไทย เริ่มออกบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตแบบชิป 16 พฤษภาคม 2559
ยังไม่พบอัตราค่าธรรมเนียมของบัตรแบบชิป 
บัตรเก่ามีค่าแรกเข้า 100 บาท, ค่าธรรมเนียมรายปี 180 บาท
บัตรแบบเดิมใช้ได้ถึง สิ้นปี 2562
ไม่มีข้อมูลว่า เปลี่ยนบัตรต้องจ่ายค่าธรรมเนียมหรือไม่

..............................

ธนาคารกสิกรไทย (K Bank)
 
   










ธนาคารกสิกรไทย เริ่มให้บริการบัตรแบบชิปเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559
ตู้เอทีเอ็มทั่วประเทศ 12,000 เครื่อง กำลังทยอยปรับปรุงให้ใช้บัตรแบบชิป
จากทุกธนาคาร ปัจจุบันมีบัตรแบบชิป 3 แบบคือ K-Debit Card รุ่นพื้นฐาน
K-My Play, K-Max Plus  ทั้งหมดใช้ระบบ PIN 6 หลัก 
บัตร K-Debit Card ค่าธรรมเนียมออกบัตรใหม่/บัตรทดแทน 100 บาท,
ค่าธรรมเนียมรายปี 200 บาท 
ไม่มีข้อมูลว่า เปลี่ยนบัตรต้องจ่ายค่าธรรมเนียมหรือไม่

...................................


ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)












ของไทยพาณิชย์ เปลี่ยนจากบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตแบบเดิม 
เป็นบัตรแบบใหม่ที่เรียกว่า  S Smart เริ่ม 14 พฤษภาคม 2559 
เปลี่ยนฟรี จนถึง 31 ก.ค.59
ค่าธรรมเนียมออกบัตรใหม่ 100 บาทค่าธรรมเนียมรายปี 300 บาท 

...............................................

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (Krungsri)












เริ่มให้บริการบัตรแบบชิปวันนี้ (16 พฤษภาคม 2559)
ค่าธรรมเนียมออกบัตรใหม่ 480 บาท ต่อ 3 ปี
ค่าธรรมเนียมออกบัตรทดแทน 100 บาท, ค่าธรรมเนียมรายปี ไม่มี
ไม่มีข้อมูลว่า เปลี่ยนบัตรต้องจ่ายค่าธรรมเนียมหรือไม่


...........................

ธนาคารออมสิน (GSB)











ออมสินแจ้งว่า เปลี่ยนบัตรใหม่ ฟรีค่าธรรมเนียม จ่ายรายปี 200 บาท 
ทำบัตรใหม่ ค่าธรรมเนียมแรกเข้า 100 บาท  รายปี 200 บาท
บัตรแบบเก่าใช้ได้ถึง สิ้นปี 2562
.......................................

ธนาคาร TMB











จากเว็บไซต์ของธนาคาร บริการด้านบัตรในปัจจุบัน เป็นบัตรแบบมีชิปหมดแล้ว
บัตรขั้นพื้นฐาน  บัตร ทีเอ็มบี โซ สมาร์ท แบบมีชิป ไม่มีค่าธรรมเนียมแรกเข้า 
และไม่มีค่าธรรมเนียมรายปี 

....................................................
ธนาคารธนชาติ













เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2559 ถือเป็นธนาคารแรกที่ออกมาประกาศเรื่องนี้
ค่าออกบัตรใหม่ 100 บาท ค่าธรรมเนียมรายปี 200 บาท
...........................................

CIMB Thai









บัตรเดบิต CIMB Thai รองรับเทคโนโลยีชิป EMV และ PIN 6 หลักแล้ว
ค่าออกบัตรใหม่ 100 บาท (ยกเว้นให้ฟรีถึงสิ้นปี 2559) ค่าธรรมเนียมรายปี 200 บาท

..................................

ใครถือบัตร ATM แบบเก่าแบงค์ไหน ถ้าเปลี่ยนฟรีก็ควรเปลี่ยนนะครับ 
เพราะแบบชิปปลอดภัยจากแก็งสกิมเมอร์แน่นอน บัตรแถบแม่เหล็กแบบเก่าของทุกธนาคาร 
ยังใช้ได้จนถึง สิ้นปี 2562 ซึ่งเป็นไปตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย






20 ก.ค. 2559

บัตรประชาชน

บัตรประจำตัวประชาชน     Thai National ID Card













บัตรประขาชน เขามีกันทุกคนล่ะครับ  นั้นนะซิ
ตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526  บอกว่า คนไทยที่มีอายุครบ 7 ปีบริบูรณ์
และไม่เกิน 70 ปี ต้องทำบัตรประจำตัวทุกคน

แสดงว่า
ตั้งแต่แรกเกิด จนถึง 6 ปี 11 เดือน 29 วัน ไม่ต้องทำบัตร
อายุ 70 ปีขึ้นไป ไม่ต้องทำบัตร (โดยหลักการเขาให้ใช้บัตรประชาชนใบสุดท้ายที่ถืออยู่
ใช้ได้นานเท่านาน จนกว่า เจ้าของจะหมดอายุขัย นั่นคือ บัตรไม่มีวันหมดอายุ
แต่ผู้ถือนี่ซิ จะลาจากไปก่อนบัตร)

ลูก 7 ขวบแล้ว จะไปทำบัตรให้ลูก
เอาสูติบัตรไปด้วยนะ เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันตัวบุคคล
ไปทำได้เลยที่  ที่ว่าการอำเภอ ที่สำนักงานเขตหรือ ที่ทำการเทศบาล
ได้ทุกที่ครับ  15 นาทีเสร็จ
พ.ร.บ.กำหนดว่า ผู้ปกครองต้องแจ้งขอมีบัตรภายใน 60 วัน เมื่อเด็กอายุครบ 7 ปี
ได้บัตรประชาชนมาแล้ว บัตรมีอายุ 8 ปี รอบต่อไปก็เมื่ออายุครบ 15 ปี

บัตรผม หมดอายุเดือนหน้าครับ
ใจร้อนครับขอทำใหม่เลยได้บ่   ได้ซิ ขอทำใหม่ก่อนถึงวันหมดอายุได้ 60 วัน
(บางคนถือเรื่องโชค หากรอให้บัตรหมดอายุกลัวว่าจะเกิดลางร้าย... ก็ว่ากันไป)
ใจเย็นก็ได้ครับ บัตรหมดอายุแล้ว เขาให้เวลาอีกตั้ง 60 วัน ค่อยต่อก็ยังได้
แต่...ขอแนะนำว่า ควรต่อล่วงหน้าจะดีกว่า เพราะเกิดมีความจำเป็นที่ต้องแสดงบัตร
แน่นอนว่า บัตรหมดอายุ เขาไม่รับเป็นหลักฐานแน่ๆ
งั้นไปต่ออายุบัตรดีกว่า เหมือนต่ออายุเราด้วย ก็ที่ อำเภอ เขต หรือ เทศบาลไหนก็ได้

มีกรณีที่ต้องเปลี่ยนบัตรใหม่ หรือขอทำบัตรใหม่ ภายใน 60 วัน ด้วยเหตุต่างๆเช่น
1 บัตรหาย หรือถูกทำลาย
2 บัตรชำรุด
3 เปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล
4 ย้ายที่อยู่

ในบัตรประชาชนเขาระบุอะไรไว้บ้าง รู้ป่ะ
1 ชื่อ - สกุล ภาษาไทย ภาษาปะกิต
2 วัน เดือน ปี เกิด
3 เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก
4 ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน
5 รูปถ่าย (สุดหล่อ หรือ สุดสวย)
6 วันที่ออกบัตร และวันที่บัตรหมดอายุ
7 ลายมือชื่อ เจ้าพนักงานผู้ออกบัตร

ฉะนั้น จง...
ขยันหายใจเข้าไว้ จะได้ทำบัตรกันหลายๆรอบ
รักษาสัญชาติไทยเอาไว้  เพราะถ้าถูกถอนสัญชาติ จะถูกยึดบัตร
จงมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง เพราะถ้าไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน ทำบัตรไม่ได้นะ






19 ก.ค. 2559

หน้าที่ของคนไทย

หน้าที่ของคนไทย ตามกฎหมาย














เกิด และอาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทย สุขกาย สบายใจจริงๆ คุณดิดเหมือนผมมะ
ขนาดวันที่เกิดการปฏิวัติ เมื่อ 2 ปีก่อน เรายังมีอิสระเสรีในการใช้ชีวิตประจำวัน
ได้อย่างปกติสุข จะอึดอัดบ้างก็อีตอนไม่มีละครให้ดู แต่ก็ดูบอลพรีเมียลีกได้ทางอินเตอร์เน็ต  
ผมไม่ชอบดูละครอยู่แล้วจึงไม่ค่อยรู้สึกอึดอัดอะไร
  
จะขัดใจอยู่บ้างก็เรื่องเคอร์ฟิว 3 ทุ่มนี่แหละ เพราะจะหาของกินตอนหัวค่ำที่ 7/11 ไม่ได้
ด้วยความเคยชิน 3 ทุ่ม 10 นาที เดินไปยังเป้าหมาย เอ๊ะปิดไฟ อ๋ออออ เคอร์ฟิว 5555 ลืม
มาถึงวันนี้ บ้านเรายังปกครองโดยรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติอยู่นะ แต่ความรู้สึกของผม 
เหมือนผมได้รัฐบาลที่ถูกใจ  ถูกใจมากกว่ารัฐบาลที่ผมเคยเลือกซะอีก  
จริงๆ สาบานได้เลย

ได้นายก "ลุงตู่" เป็นนายกที่ครบรสเลย ดุ(กับนักข่าว) โหด(กับคนโกงทุจริต) 
ฮา(เมื่อปราศรัย) นิ่ม(กับเด็กและสตรี โดยเฉพาะกับคุณหญิง) 
สุภาพอ่อนโยน(กับพระและราชวงศ์) ผมว่าท่านนายกมีครบนะ

เป็นคนไทยอยู่เมืองไทย สบายที่สุดแล้ว (ผมคิดเองนะ เพราะผมไม่เคยไปอยู่เมืองนอก)
ยิ่งในสถานะที่เป็นพสกนิกรของ "ล้นเกล้าในหลวง" ด้วยแล้ว อย่างอื่นไม่ต้องพูดถึง 
เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม

นั่นคือความสุข นั่นคือเสรีภาพ ที่รัฐบาลทุกยุคสมัยมอบให้กับคนไทย ผ่านทางรัฐธรรมนูญ
แห่งราชอาณาจักรไทย  ผมเพิ่งอ่านเจอว่า รัฐธรรมนูญ ได้บัญญัติหน้าที่ให้คนไทยทุกคน
ต้องประพฤติปฏิบัติตามด้วย เดิมๆ รู้แต่เพียงว่า คนไทยมีหน้าที่ต้องไปเลือกตั้ง 
คนไทยต้องปฏิบัติตามกฎหมาย คนไทยต้องเสียภาษีให้กับรัฐ แค่นี้แหละ

ตอนนี้เรายังไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผมขอยกเอารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 
พ.ศ.2550 ล่ะกัน ว่า ท่านกำหนดหน้าที่ของคนไทยไว้อย่างไรบ้าง

1 ฐานะผู้ปกครอง 
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้อำนาจอธิปไตย
ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครอง เป็นของปวงชนชาวไทยและประชาชนสามารถใช้อำนาจ
ดังกล่าวผ่านการเลือกผู้แทนของตน อันได้แก่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 
และสมาชิกวุฒิสภา เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ในรัฐสภาแทนตน 

2 ฐานะผู้อยู่ภายใต้การปกครอง 
รัฐธรรมนูญนอกจากจะมีบทบัญญัติในเรื่องการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพไว้อย่างชัดเจนแล้ว 
ขณะเดียวกันก็ได้กำหนดให้ประชาชนมีหน้าที่บางประการควบคู่ไปด้วย กล่าวคือ 
เมื่อรัฐได้ให้หลักประกันในสิทธิและเสรีภาพแก่ประชาชนแล้ว ประชาชนก็มีหน้าที่ที่จะต้อง
ปฏิบัติต่อรัฐด้วย ดังนี้

หน้าที่รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย 
อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
2 หน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย
3 หน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
4 หน้าที่ป้องกันประเทศ
5 หน้าที่รับราชการทหาร
6 หน้าที่เสียภาษีอากร
7 หน้าที่ช่วยเหลือราชการตามที่กฎหมายบัญญัติ
8 หน้าที่รับการศึกษาอบรมตามที่กฎหมายบัญญัติ
9 หน้าที่พิทักษ์ ปกป้อง และสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่น
10 หน้าที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามที่กฎหมายบัญญัติ

มีหลายข้อเลย ที่เราๆท่านๆ ปฏิบัติได้ครบถ้วน 

และหลายข้อเช่นกัน ที่ผมเพิ่งทราบ เช่นข้อ 7 ข้อ 9 และข้อ 10 
มีอยู่ข้อเดียวที่ทราบมานานแล้ว แต่ยังฝ่าฝืน คือข้อ 2 ครับ โดยเฉพาะ พรบ.จราจร 
ผมนี่ โดนปรับเป็นประจำ  แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับ เคยโดนเหมือนผมบ้างไหมครับ


17 ก.ค. 2559

พรบ.กำลังพลสำรอง 2558

พรบ.กำลังพลสำรอง พ.ศ. 2558 ประกาศในราชกิจนุเบกษา เมื่อ 30 ธ.ค.58

กม.ฉบับนี้ สร้างความตื่นตระนกให้กับบรรดา หนุ่มน้อย หนุ่มใหญ่ ที่เป็นทหารกองหนุนอยู่ไม่น้อย
มันก็น่าตกใจอยู่นะครับ เพราะเกิดข้อสงสัย ต่างๆนาๆ ผุดเป็นเครื่องหมายคำถามอยู่ในหัวสมอง
เต็มไปหมด "เราจะโดยเรียกป่าววะ  กี่เดือนวะ งวดแรกออกที่ใครบ้างวะ"
"จบ นศท.ปี 3 แล้ว โดนด้วยเหรอ"   "เราจบปี5โดนด้วยหรา"   (ฮ่าฮ่าฮ่า อย่าคากมิด)
มาทำความรู้จักกับตัวจริง(พรบ.)ซะเลยดีกว่า  รู้เขา รู้เราสัมผัสโดยตรงเลยนิ ว่า น่ากลัว
น่าเกลียด น่ารังเกียจ อย่าที่เป็นข่าวล่ำลือหรือเปล่า   ไม่แน่นะ ผมว่าอาจจะน่ารักด้วยซ้ำไป
ลองสัมผัสดูก่อน ดีม๊ะ

ก่อนอื่นเรา่รู้ยังล่ะ ว่า "กำลังพลสำรอง" คือใคร
เอ่อ... นั่นซิ กลัวไปก่อนซะแล้ว ยังไม่รู้เลยว่าเกี่ยวข้องกะใครมั้ง

กำลังพลสำรองหมายถึง
1 ข้าราชการทหารที่ลาออกจากประจำการ
2 คนที่ปลดจากกองประจำการทุกประเภท (ได้แก่ทหารเกณฑ์ และ ผู้ที่จบ นศท.ปี 3 )
3 ทหารกองเกิน (ก็คนที่ไปลงทะเบียนทหารกองเกินตอนอายุ 17ปีและได้ใบ สด.9 แล้ว)
4 คนที่จับได้ใบดำในวันที่เกณฑ์ทหาร

คงรู้แล้วซินะ เราอยู่ในกลุ่มกะเขาหรือป่าว  (นี่นี่ เรียงตามลำดับความต้องการแล้วนะ)
" วุ้ยย ข้อ 4 นั่น จะเอาไปทำกากอะไร ไม่เคยฝึก ไม่เคยยิงปืนสักนัด เป็นผักเหนอะซิท่า"
เถอะน่า  ทหารเขาคิดแล้ว ต้องช่วยชาติได้แน่นอน ถึงกำหนดไว้ในกฎหมาย

พรบ.กำลังพลสำรอง บัญญัติว่า
กำลังพลสำรองให้มีไว้ใช้ ในยามปกติและยามสงคราม
"ยามสงคราม ครับผม เข้าใจครับ เพื่อปกป้องแผ่นดินเป็นหน้าที่อยู่แล้ว  แล้วยามปกติ นี่ซิ
จะเอาผมไปทำอะไร ????"

คำตอบคือ ภัยพิบัติตามธรรมชาติงัยครับ ปัญหาภัยพิบัติสาธารณะ รัฐธรรมนูญกำหนด
ให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายทหารในการแก้ไข ช่วยเหลือและบรรเทา ด้วยนะ
สึนามิ แผ่นดินไหว น้ำท่วม ต้องใช้กำลังพลจำนวนมาก เหตุการณ์สึนามิอันดามัน ทหารไปกันหมดทุกค่าย ยังเอาไม่ทันเลย  น้ำท่วมใหญ่ กทม.
ค่ายทหารเกือบร้าง ก็ยังเข้าไปช่วยเหลือไม่ทั่วถึงเลย
เห็นม๊ะ คนจับใบดำตามข้อ 4 เขาช่วยได้นะ เข้าใจแนวคิดของทหารแล้วใช่ไหมครับ
"เขาลือว่า ยามปกติก็เรียกไปฝึกด้วย ปีละ 60 วัน"
แหม คุณเขานี่พูดไปได้เรื่อยเลยนะ  จริงๆแล้ว ในยามปกติ พรบ.กำหนดให้เรียกมาฝึกได้
อย่าลืมว่า ทหารต้องฝึกจนช่ำชอง ถึงจะออกรบได้  นักมวยขึ้นชกโดยไม่ซ้อม ก็โดนน็อคซิครับ

ตาม พรบ.กำลังพลสำรอง ให้เรียกได้ 5 กรณี ครับ
1 เรียกเพื่อตรวจสอบ (ปีละครั้งๆละ 1 วัน)
2 เรียกเพื่อฝึกวิชาทหาร (ตาม กม.ให้เรียกได้ 60 วัน ปัจจุบัน เรียก 10 วัน และเรียกเฉพาะ        เสาร์,อาทิตย์ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการทำงาน)
3 เรียกเพื่อปฎิบัติราชการ ร่วมกับข้าราชการทหาร (ข้อนี้เน้นไปที่อาสาสมัคร หรือรับสมัคร)
4 เพื่อทดลองความพรั่งพร้อม (ครั้งละไม่เกิน 3 วัน)
5 เพื่อการระดมพล (ถ้าถึงขั้นเรียกระดมพล แสดงว่ามีศึกสงครามแน่นอน)
ทั้งนี้ ใช่ว่าจะเรียกครบทั้ง 5 กรณีในทุกๆปีนะ ขึ้นอยู่กับงบประมาณที่รัฐบาลจัดให้
และสถานการณ์ในพื้นที่ด้วยนะครับ


   
                          


"พี่ครับ ตอนนี้ผมทำงานเป็นลูกจ้างรายวัน ถ้าโดนเรียก 10 วันผมแย่แน่เลย"
ทางราชการไม่ใจดำหรอกครับ  มีค่าตอบแทนและสวัสดิการให้ครับ รับรองว่า ไม่น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำแน่นอน ลูกเมียอยู่บ้านไม่อดหรอก เช่น
ค่าตอบแทน  ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าอาหาร ค่าพาหนะ ค่าเช่าที่พัก เครื่องแบบทหาร ค่ารักษา ฯลฯ

"พี่ครับ ผมจะรู้ได้งัยว่า ผมโดนเรียก...... แฮ่ๆๆ  ถ้าเรียกแล้วผมไม่ไปล่ะครับ.."
ทางทหารจะส่งเอกสารลงทะเบียนตอบรับถึงตัวท่าน ตามภูมิลำเนาทหารที่แจ้งไว้ครับ
ส่งล่วงหน้าเป็นเดือนๆเลย เพื่อให้ท่านได้เตรียมตัว หาของศักดิ์สิทธิ์มาติดตัวไว้
ได้ลาลูก ลาเมีย ลากิ๊ก  (ถ้ามี)
ถ้ารับหมายเรียกแล้วไม่ไป โดยไม่มีเหตุอันควร มีความผิดนะ ผิดอาญา ทั้งจำและปรับ ครับ

"แล้วพวกผมจะพ้นจากการเป็นกำลังพลสำรองเมื่อไหร่เนี่ย"
ถ้าจะตอบแบบรวมๆ ก็อายุครบ 46 ปีครับ

ขอสรุปในตอนท้ายว่า

1 เหตุผลที่ออก พระราชบัญญัติฉบับนี้ เพื่อบริหารจัดการ นายทหารสัญญาบัตรกองหนุน 
ทหารกองหนุนประเภทที่ ๑,๒ และทหารกองเกิน ที่กระทรวงกลาโหมจัดเก็บรายชื่อไว้
เป็นบัญชีประเภทต่างๆ ประมาณ 12 ล้านคน ให้มีประสิทธิภาพ

2 กําลังพลสํารองนั้น ทางราชการจะเรียกตามความจำเป็นเท่านั้น และไม่เรียกไปปฎิบัติ
ราชการในพื้นที่ 3 จชต.อย่างแน่นอน

3 การบรรจุกำลังพลสำรองในหน่วยทหาร เพียงแต่ใส่รายชื่ออยูในบัญชีบรรจุกําลัง
ของหนวยทหารเทานั้น ตัวจริงเป็นๆ ยังคงปฏิบัติงานตามปกติในโรงงาน บริษัท 
หางราน หรือประกอบอาชีพอิสระไดตามปกติ

4 เมื่อมีการเรียกกําลังพลสํารองเขารับราชการทหาร กําลังพลสํารองจึงจะมาปฏิบัติหนาที่
ในหนวยทหารที่ตนมีรายชื่อสังกัดอยู่


5 เข้าใจตรงกันนะครับ พรบ.กำลังพลสำรอง 2558 ไม่ใช่กฎหมายที่น่ารังเกียจแต่อย่างใด 
และไม่ใช่กฎหมายใหม่ เพียงแต่ได้รวบรวม กฎกระทรวงหลายๆกระทรวง
มาอยู่ในที่เดียวกัน เป็น พรบ.





10 ก.ค. 2559

ทหารกองประจำการ VS ทหารประจำการ





ภาษาทหารวันละคำ

วันนี้เสนอคำว่า  ทหารกองประจำการ VS ทหารประจำการ

คำ 2 คำนี้สร้างความสับสนให้บังเกิดได้เสมอ ฮ่าฮ่าฮ่า 
บางคนว่า  “ก็เหมือนกันนั่นแหละ มีกองกับไม่มีกอง... คือกัน”
บางคนว่า  “ ไม่เหมือนกัน อีตรง มีกอง กะ ไม่มีกองนี้แหละ”
แล้วจริงๆ มันเหมือน  หรือมันต่างกัน  บอกเลยดีกว่า !!!

ทหารกองประจำการ หมายความว่า

“ผู้ซึ่งขึ้นทะเบียนกองประจําการและได้เข้ารับราชการ 
ในกองประจําการจนกว่าจะได้ปลด”

“เอาอีกแล้ว  ภาษากฎหมายอีกแล้ว ถ้าจะบอกความหมายแบบนี้ อย่าบอกเลยยังดีกว่า  
อยากจะบอกอะไรก็บอกเล่าแบบชาวบ้านคุยกะชาวบ้านได้มะ  ทีหลังนะ 
อย่ามาแบบนักวิชาการผูกไทด์อีก เด่วโดลลส์”

เอาเลย...ตามนี้นะ 
คือ ทหารเกณฑ์ที่เข้ากองทหารและอยู่รับใช้ชาติจนครบกำหนดปลด บางคน 6 เดือนปลด/ 
บางคน 1 ปีปลด / บางคน 2 ปีปลด/บางคน 2ปีกะอีก 3 เดือนปลด (ฮ่ะ...มีกันเฮ้อ) 
มีดี้ ก็เขาแบบหนีไปตั้ง 3 เดือน เมื่อกลับมาก็ต้องอยู่ชดเชยอีก 3 เดือน งัยล่ะตะเอง

ในช่วงที่เข้ากองในเดือนแรก จ่ากอง ก็จะจัดทำบัญชีรายชื่อทหารเกณฑ์ทั้งกองพัน
เพื่อส่งไปยังสัสดีจังหวัด เพื่อขึ้นทะเบียนและออกหมายเลขประจำตัวทหาร เป็นเลข 10 หลัก 
ได้หมายเลขแล้ว ก็ถือว่าได้ขึ้นทะเบียนกองประจำการเป็นที่เรียบร้อย

สรุป ทหารเกณฑ์ที่อยู่ในกองทหาร ไม่ว่าจะกี่เดือน กี่ปี จะมีสถานภาพเป็นทหารกองประจำการ 
จนถึงวันปลด คร้าบ


ทหารประจำการ หมายความว่า

“ทหารซึ่งรับราชการตามที่กระทรวงกลาโหมกําหนด  ซึ่งไม่ใช่ทหารกองประจําการ”
อันนี้ไม่ต้องขยายความนะท่านพี่ มันชัด ชัดเจนแล้วใช่มะ

สรุปเลย ทหารประจำการคือ ทหารอาชีพที่รับเงินเดือน ปฎิบัติหน้าที่ราชการตามตำแหน่ง
และชั้นยศ ตั้งแต่

พลอาสาสมัคร...
ชั้นนายสิบ...  สิบตรี  สิบโท  สิบเอก
ชั้นจ่า... จ่าสิบตรี  จ่าสิบโท  จ่าสิบเอก 
ชั้นนายร้อย...ร้อยตรี  ร้อยโท   ร้อยเอก
ชั้นนายพัน...พันตรี  พันโท  พันเอก
ชั้นนายพล... พลตรี  พลโท  พลเอก


ทหารกองประจำการ VS ทหารประจำการ แตกต่างกันด้วยประการฉะนี้